“จิราพร” ชี้ ไทยแพ้คดีเหมืองทองอัครา แน่นอน แต่พบ การเจรจา ให้สัมปทานที่ดิน4แสนไร่ แลกไม่ฟ้อง – ให้ “นายกฯ”อยู่ในอำนาจต่อ ด้าน “รมว.อุตสาหกรรม” โต้เป็นเรื่องเท็จ
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันที่สอง ยังเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นการอภิปรายโดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจต่อกรณีการให้สิทธิสัมปทานที่ดินกับ กว่า 4แสนไร่ ให้กับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เพื่อแลกกับการถอนฟ้อง กรณีเหมืองทองอัครา พื้นที่รอยต่อ จ.เพชรบูรณ์, จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกสัมปทานโดยไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล และถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคิดเป็นมูลค่าเบื้องต้น 2.53 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีสิทธินำงบประมาณแผ่นดินไปชำระค่าโง่ ดังนั้นตนขอถามพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเดินหน้าต่อสู้คดี ดังกล่าวให้ถึงที่สุด หรือ ยอมให้ที่ดินกับบริษัทเอกชนต่างชาติเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง
“แนวโน้มประเทศไทยมีโอกาสแพ้คดี 100% เพราะประเทศไทยต้องจ่ายค่าโง่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทั้งรูปแบบของการแพ้คดี หรือ นำทรัพยากรประเทศไปแลก มูลค่ามหาศาล โดยแลกกับสิ่งเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถรักษาอำนาจ รักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป รวมถึงพ้นความผิด โดยเอาอนาคตของชาติเข้าแลก” น.ส.จิราพร อภิปราย
ทั้งนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงยืนยันว่า ไม่มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน 4แสนไร่ เพื่อให้ถอนฟ้องกับบริษัทเอกชนในคดีเหมืองทองอัครา พร้อมยืนยันว่าการใช้มาตรา 44 เพื่อยุติการทำเหมืองนั้นเพื่อลดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งดำเนินการกับเหมืองทองทุกแห่ง อย่างไรก็ตามยังให้สิทธิเหมืองทองยื่นขออนุญาตสำรวจแร่ภายหลังได้ซึ่งบริษัทอัคราฯ ได้ยื่นขออนุญาตสำรวจแร่ในที่ดินและได้รับอนุญาตตามกรรมการที่มีหน้าที่ ดังนั้นจึงไม่ใช่การขอแลกที่ดินเพื่อถอนฟ้อง
“ที่บอกว่ารัฐบาลแพ้100% หากแพ้ บริษัทคิงส์เกตฯ คงไม่เจรจา เพราะได้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาทฟรีๆ แต่ทำไมยังให้บริษัทอัคราฯ ลงทุนในประเทศไทย ทั้งที่คิดว่ามีกำไรรเพียง 5,000 ล้านบาท และต้องลงทุนถึง25 ปี ถึงจะได้เงิน 2.5หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดียืนยันว่าไม่มีการแลกประโยชน์ ส่วนรูปคดีที่ต่อสู้นั้น บริษัทคิงส์เกต และกรมเหมืองแร่ ยื่นให้อนุญาโตตุลาการเลื่อนเพื่อหารือร่วมกันอีกครั้ง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายรองรับ” นายสุริยะ ชี้แจง.