จากการลงพื้นที่ของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) เพื่อสำรวจและติดตามสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีดในพื้นที่ ม.4 ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่เมื่อปี 2561 มีสมาชิก 30 ราย จิ้งหรีด 3 ชนิด จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ, จิ้งหรีดพันธุ์ขาว และจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง
เมื่อจำแนกข้อมูลการเลี้ยงแต่ละประเภท พบว่า จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ ใช้เวลาเลี้ยงเฉลี่ยรุ่นละ 45 วัน มีพ่อค้ามารับซื้อถึงฟาร์มในราคา กก.ละ 90 บาท หากทอดและขายในตลาดราคาอยู่ที่ กก.ละ 130 บาท แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมนำมาทอด ลาบ คั่ว อบกรอบปรุงรส และทำน้ำพริก
ส่วน จิ้งหรีดพันธุ์ขาว ใช้เวลาเลี้ยงเฉลี่ยรุ่นละ 60 วัน ขายได้ราคา กก.ละ 70 บาท เป็นพันธุ์ที่ต่างประเทศนิยมบริโภค เพราะสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจิ้งหรีดใช้ในการผสมในอาหารประเภทต่างๆ เช่น พาสต้า คุกกี้ เค้ก หรือพิซซ่า เป็นต้น
สำหรับ จิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง ใช้เวลาเลี้ยงเฉลี่ยรุ่นละ 80 วัน ขายได้ราคา กก.ละ 130 บาท ส่วนใหญ่นิยมนำมาทอด ลาบ คั่ว
จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำเป็นพันธุ์ที่ทางกลุ่มนิยมเลี้ยงมากกว่าพันธุ์อื่น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ตลาดในประเทศมีความต้องการสูง ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น และได้ผลตอบแทนเร็ว
ในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ถึง 6 รุ่น เลี้ยงในกล่องไม้ขนาด 2.4× 1.2 เมตร มีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยกล่องละ 803 บาท ได้ผลผลิตจิ้งหรีดประมาณกล่องละ 20 กก. เกษตรกรมีผลตอบแทนกล่องละ 1,800 บาท…หักต้นทุนแล้วเกษตรกรได้กำไรเฉลี่ยกล่องละ 997 บาท
หากคิดเป็นผลตอบแทนทั้งกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีการเลี้ยงทั้งหมด 200 กล่อง จะได้กำไรรุ่นละ 199,400 บาท ตลอดทั้งปีเลี้ยง 6 รุ่น จะได้กำไร 1,196,400 บาท
นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายตัวจิ้งหรีดแล้ว ยังสามารถนำมูลจิ้งหรีดมาทำเป็นปุ๋ยขายในราคากระสอบละ 40 บาท เป็นการเพิ่ม รายได้อีกทางหนึ่ง
การเลี้ยงจิ้งหรีดในรุ่นต่อไปเกษตรกรสามารถเก็บไข่ไว้ทำพันธุ์เองได้ แต่ควรผสมไข่ระหว่างกล่องเลี้ยงเพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิดในจิ้งหรีด แต่อย่างไรก็ตามจิ้งหรีดอ่อนไหวต่อสารเคมีทุกชนิด โดยสถานที่เลี้ยงต้องอยู่ห่างจากการใช้สารเคมี หรือมีแนวป้องกันสารเคมี ที่จะพัดผ่านฟาร์มด้วย.
สะ–เล–เต