เข้าสู่ฤดูร้อนได้ไม่เท่าไร แม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตรแห้งขอด ส่งผลให้หลายพื้นที่ที่ใช้น้ำจากแม่นํ้ายมประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจง พื้นที่แม่น้ำยมประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ทางตอนบน ประกอบกับในช่วงฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรมีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพียง 692 มิลลิเมตร น้อยกว่าปริมาณฝนปกติถึง 33% จึงทำให้แม่น้ำยมแห้งเร็วกว่าทุกปี
ในเบื้องต้น กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอรับการสนับสนุนการทำฝนหลวงจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่
สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแม่น้ำยมพื้นที่พิจิตรในระยะยาว กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม 3 แห่ง ประกอบไปด้วย ประตูระบายน้ำท่าแห มีผลคืบหน้าไปกว่า 46% ประตูระบายน้ำวังจิก คืบหน้าไปแล้วกว่า 44%…ทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2566
ส่วนประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมงานก่อสร้าง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเก็บกักน้ำและช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในแม่นํ้ายมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับการแก้ปัญหาแม่น้ำยมแห้งขอดในปีนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะน้ำต้นทุนที่อยู่ในเกณฑ์น้อยอย่างเต็มศักยภาพ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน
พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ไปยังผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460.
สะ-เล-เต