หมอเตือน เปิบหมูดิบ เสี่ยงหูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
หมอเตือน เปิบหมูดิบ เสี่ยงหูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 22 มี.ค. 64 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 73 ราย เสียชีวิต 7 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี และอายุ 45-54 ปี ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ลำปาง จันทบุรี และพิจิตร โรคนี้เมื่อมีอาการป่วยแล้วจะก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรืออาจสูญเสียการได้ยินถาวร
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์การเจ็บป่วยรุนแรงจากไข้หูดับจากการรับประทานเนื้อหมูแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ ที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์ในภาคอีสาน ที่จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้แล้ว 4 ราย ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนไม่ควรบริโภคเนื้อหมูปรุงดิบหรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนู ก้อย หลู้ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้หูดับ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptococcus suis (สเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส ) ซึ่งผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อโรคไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับเนื้อหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ การติดต่อของโรคจากการสัมผัสโดยตรงทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดหมูที่ปรุงไม่สุก โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย
อาการที่พบในคนที่ติดเชื้อได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ อุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น ประสาทหูทั้งสองข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร
การป้องกันสำหรับผู้มีฟาร์มหมูคือหมั่นทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาทำลายเชื้อในโรงเรือน ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มหรือโรงงานฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่ สวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันมิดชิด ปกคลุมแขน ขา สวมรองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง สวมแว่นตาป้องกันในระหว่างปฏิบัติงาน หากมีบาดแผลต้องปิดบาดแผลให้สนิท และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง โดยธรรมชาติเชื้อจะถูกทำลายด้วยความร้อน ดังนั้น จึงควรรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกจึงจะปลอดภัย ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บป่วยจากโรคนี้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและบอกประวัติการกินหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดความรุนแรงเป็นหูหนวก หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
………………………………………………………………….
“กินสุก ปลอดภัย ปลอดโรค”
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
หมายเลข 043-222818-9 ต่อ 611
https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php