ข่าวภาคค่ำ – คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนไปติดตามการตรวจสอบการทุจริตของสองวัด ในจังหวัดพิจิตร ทำสัญญาก่อสร้างเก๊ ส่อฮุบเงินอุดหนุนวัดมากถึง 217 ล้านบาท อาจซ้ำรอยขบวนการโกงเงินทอนวัด อย่างไร ติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร
คดีเงินทอนวัดที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนาไปเมื่อหลายปีก่อน ยังไม่ทันได้ดำเนินคดีอย่างครบถ้วน ก็เกิดปมใหม่ที่ส่อว่าอาจจะมีการทุจริตอย่างเป็นขบวนการอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรก ผ่านคำร้องที่ส่งไปยัง นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหาเจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติหลายราย ส่อว่าจะร่วมทุจริตเงินอุดหนุนวัดในสองประเภท คือ เพื่อบูรณะซ่อมแซม หรือบูรณปฏิสังขรณ์วัด แต่กลับไม่มีการก่อสร้างจริง ในปีงบประมาณ 2559 รวม 37 วัด และปีงบประมาณ 2561 รวม 59 วัด เฉลี่ยวัดละ 2 ล้านบาท เป็นเงินมากถึง 192 ล้านบาท
และยังพบปัญหาการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ในปีงบประมาณ 2557 4 วัด ประกอบด้วยวัดในกรุงเทพ 1 แห่ง เชียงใหม่ 2 แห่ง และลพบุรี 1 แห่ง สองจังหวัดแรกได้งบ 5 ล้านบาท ส่วนลพบุรีได้งบมากถึง 10 ล้านบาท รวมปัญหาการใช้งบในส่วนนี้มากถึง 25 ล้านบาท ความเสียหายของรัฐจากกรณีส่อทุจริตเงินอุดหนุนวัดสองประเภทนี้ สูงถึง 217 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้สอบเสร็จแล้วสองวัดในจังหวัดพิจิตร พบว่ามีการทุจริตในลักษณะทำสัญญาก่อสร้างปลอม แต่ไม่มีการก่อสร้างจริง
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกกรรมาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ยังไม่ชัดเจนว่าการทุจริตครั้งนี้จะซ้ำรอยคดีเงินทอนวัดในอดีตหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบของกรรมาธิการพบมีการกระทำผิดแบบเป็นขบวนการ
คอลัมน์หมายเลข 7 ได้สอบถามไปยัง นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงปัญหาการส่อทุจริตที่มีเค้าลางว่าอาจทำเป็นขบวนการซ้ำรอยคดีเงินทอนวัด ได้รับคำตอบสั้น ๆ ว่า ทางสำนักพุทธฯ ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
เมื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตเงินทอนวัด พบว่า ป.ป.ช.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อ ครม.เพื่ออุดช่องว่างป้องกันการทุจริต ในห้าด้าน เช่น ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล จัดทำฐานข้อมูลวัดเป็นวาระแห่งชาติ มีข้อมูลกลางเรียกดูผ่าน Web-Base Technology หรือ Mobile Application รายงานข้อมูลแบบ Real-Time เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใส ด้านกระบวนการจัดทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ ให้มีการจัดทำระเบียบ หรือประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขอรับ และการจัดสรรเงินอุดหนุนวัด และด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้มีการจัดทำแผนใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน ไม่ควรมีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้า เป็นต้น
โดยที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นการขยับปรับปรุงตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.