ข่าวภาคค่ำ – คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ พาไปติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีวัฒนธรรมพิจิตร โยกเงินอุดหนุนวัดไปทำถุงยังชีพ ถูกลงโทษอย่างไร ติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร
นี่เป็นคำสัมภาษณ์ของเจ้าอาวาส วัดสำนักขุนเณร ที่ให้ไว้กับคอลัมน์หมายเลข 7 เมื่อครั้งลงตรวจสอบตามข้อมูลของเครือข่ายวัฒนธรรมพิจิตร ช่วงกลางปีที่แล้ว กรณีวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เรียกคืนเงินอุดหนุนวัดจาก 33 วัด ในจังหวัดพิจิตร ขอรับกลับคืนเป็นเงินสดทั้งหมด 330,000 บาท ทั้งที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม โอนเงินเข้าบัญชีทั้ง 33 วัด ตามที่ขออุดหนุนปี 2563 ในโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนและโครงการเทศน์มหาชาติ แต่ต้องยุติโครงการเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ขอเรียกรับคืนเงินอุดหนุนทั้งหมดเป็นเงินสด นำไปทำถุงยังชีพ ถุงละ 500 บาท แจกให้ชาวบ้าน ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีทั้งวัดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเหตุให้มีการร้องเรียนว่าการดำเนินการของวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร น่าจะไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย
ขณะที่วัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ยืนยันทำทุกอย่างถูกต้อง
ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ล่าสุดมีการสรุปบทลงโทษแล้วว่า เป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ตัดเงินเดือนเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
เมื่อตามดูความคืบหน้าในการตรวจสอบของ ป.ป.ช.จังหวัดพิจิตรนั้น อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง ยังต้องมีการสอบพยานอีก 4-5 ปาก คาดว่าจะสรุปสำนวนว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ส่ง ป.ป.ช.ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้
เงินอุดหนุน 33 วัด ในจังหวัดพิจิตร ที่ถูกโยกไปทำถุงยังชีพ แม้จะมีวงเงินแค่ 330,000 บาท แต่การใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติ ตอนโอนเงินให้วัดก็โอนผ่านบัญชี ไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด เมื่อจะโอนกลับไปใช้ในกิจกรรมอื่น กลับขอเป็นเงินสด ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากปล่อยให้มีการโอน โยกย้าย ถ่ายเท เงินภาษีประชาชนได้ตามอำเภอใจ จะกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต สร้างความเสียหายชนิดที่ไม่อาจประเมินได้