โรงพยาบาลนมะรักษ์กลายเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน หลังประกาศเลื่อนฉีดวัคซีน โดยระบุว่าหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อรัฐมนตรีสาธารณสุข ทำให้หลายคนสงสัยว่าใครกัน? ที่เป็นคีย์แมนของโรงพยาบาลแห่งนี้
วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชื่อของ รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนมะรักษ์ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก หลังจากวานนี้ (13 พ.ค.) แพทย์หญิงคนดังกล่าวได้ไลฟ์สดชี้แจง กรณีโรงพยาบาลนมะรักษ์ ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน โดยระบุว่า หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือติดต่อรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง
ก่อนที่ทางโรงพยาบาลจะเปลี่ยนข้อความในเวลาต่อมา โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลนมะรักษ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคนโทรมาให้ติดต่อกลับด่วนและลบโพสต์
ระหว่างการไลฟ์สด รศ.พญ.เยาวนุช ยืนยันว่ามีการแจ้งอย่างเป็นทางการว่าวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงนั้นไม่ได้แน่ ๆ ขณะเดียวกันก็เห็นสื่อบางแห่งบอกว่า ม.33 เดิมที่ว่าจะแจ้งเลื่อนไป 28 มิ.ย. กลับมา 14 มิ.ย.เหมือนกัน ตนว่าหลายคนก็มีคำถามอยู่ในหัวว่าเกิดอะไรขึ้น
“ในฐานะที่โรงพยาบาลก็ต้องทำ และเท่าที่ดูในไลน์ต่างบอกว่าอยากให้ภาครัฐเป็นคนแถลงข่าวออกมาเป็นทางการว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะที่บอกมาว่าให้ รพ.แจ้งเอง บอกเลยว่ายากมากที่จะทำ เพราะเราเคยเกิดสภาวะแบบนี้หลายครั้ง บางท่านที่ไม่เข้าใจ หงุดหงิด บางทีระบายกับภาครัฐไม่ได้ ก็ระบายกับคนรับโทรศัพท์
“ตอนที่ทำโปสเตอร์เราก็คุยว่าเราไม่ไหวแล้ว เราเจอแบบนี้มาหลายรอบ จึงมีโปสเตอร์ในเวอร์ชั่นแรก ทั้งนี้ เนื่องจากคำถามที่ประชาชนสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนล้วนเป็นคำตอบที่โรงพยาบาลตอบไม่ได้ อีกคำถามหนึ่งที่ยากกว่าคือ ทำไมฉันไม่ได้ ทำไมที่นั่นได้ ทำไมบางจังหวัดได้ ทำไมคนที่แข็งแรงถึงได้ นี่คือคำถามที่ต้องตอบเชิงนโยบาย เลยเป็นที่มาว่า หรือติดต่อ รมว.สธ.เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง
ประเด็นนี้เป็นประเด็นเชิงนโยบาย ต้องมีนโยบายการจัดสรร เมื่อประชาชนถาม รพ. เราตอบไม่ได้จริง ๆ ขณะที่การแถลงข่าวบอกว่าวัคซีนมีพอ นี่จึงเป็นที่มาว่าถ้าอยากถามประเด็นนี้ต้องถามรัฐมนตรี ซึ่งหมอก็แจ้งกับพนักงานว่าถ้าประชาชนถาม ต้องถาม รมว.จริง ๆ จึงเป็นที่มาที่โพสต์ไปเมื่อวานเพื่อแก้ปัญหาของ รพ.” รศ.พญ.เยาวนุช กล่าว
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนมะรักษ์ ให้ทุกคนได้รู้จักมากขึ้น
หมอนักบริหาร
ข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า หมอเยาวนุชหรือหมอนุช เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2510 (ปัจจุบันอายุ 54 ปี) จบแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2535, ได้รับวุฒิบัตร สาขาศัลยศาสตร์ ประเทศไทย ปี 2541 และ อนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ประเทศไทย ปี 2549
ปี 2541-2543 ประจำที่โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยระหว่างปี 2543-2552 กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างนั้นยังได้รับตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลเต้านมโรงพยาบาลพญาไท และอุปนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย
ก่อนที่ปี 2554 หมอนุชจะได้รับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นและถือหุ้นโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ตั้งโรงพยาบาลนมะรักษ์
Readthecloud สัมภาษณ์ หมอนุช เล่าว่า ตอนวัย 30 เคยทำธุรกิจร้านอาหาร บริการโลจิสติกส์ขนส่งแผ่นซีดี และทำแบรนด์ปุ๋ยอินทรีย์ พร้อม ๆ กับเป็นหมอไปด้วย จากนั้นจึงมุ่งมั่นเรียน MBA ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยหวังเอาดีทางธุรกิจ อย่างที่เคยฝันไว้ตอนเด็ก ๆ
หลังศึกษางานด้านต่าง ๆ ในโรงพยาบาลรามาธิบดีจนเชี่ยวชาญ ในวัย 50 ปี หมอเยาวนุช จึงกล้ากลับไปทำธุรกิจอีกครั้ง
โดยในปี 2559 หมอนุชนัดคุยกับเพื่อน ๆ ที่ต่อมากลายเป็นหุ้นส่วนของหมอนุช คือ นพ.วลัญช์ วิไลหงส์ สูตินารีแพทย์ ในสายตาเพื่อน ๆ จะเป็นคนสนุกสนานเฮฮา ปาร์ตี้ ชอบท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ไม่ค่อยเคร่งเครียดกับการทำงาน รวมถึง ภญ.อรอนงค์ สวัสดิ์พาณิชย์ ที่หมอนุชมักเรียกว่า “อิหนูเบน” เป็นลูกคนเล็กที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่ทำกิจการค้า มองโลกในแง่ดี เรียบร้อย
ปิดท้ายที่ตัวหมอนุชเอง ซึ่งในเว็บไซต์โรงพยาบาลนมะรักษ์ บรรยายบุคลิกเอาไว้ว่า เป็นคนที่บ้างาน เคร่งเครียดกับงาน เอาจริงเอาจังมาตลอดชีวิต และเถรตรง จนเป็นอันตรายกับตัวเอง
ทั้ง 3 คน โคจรมาเจอกันด้วยวัตถุประสงค์ว่า จะทำกิจการอะไรกันดี ที่ทำให้ชีวิตในครึ่งหลังมั่นคง เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของใคร ที่มีด้านเทา ๆ เจืออยู่ และเป็นกิจการที่ถนัด ไม่เอาเปรียบใคร สร้างประโยชน์ให้สังคมได้ แม้จะเป็นภาคเอกชน โดยมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ก่อนจะออกมาเป็นโรงพยาบาลนมะรักษ์ โรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยศาสตร์มะเร็งขนาดเล็ก บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 13 เดือน ด้วยงบก้อนเล็ก ๆ โดยมีหมอนุชควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวเองทั้งหมด กระทั่งออกมาเป็นโรงพยาบาลที่ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง เปิดรักษาวันแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ประเดิมด้วยการผ่าตัดมะเร็งเต้านมตั้งแต่วันแรกของการเปิด
หมอนุชกับความทรงจำเกี่ยวกับ “สยามไบโอไซเอนซ์”
เมื่อช่วงเดือนมกราคม ชื่อของหมอนุชตกเป็นข่าวดัง หลังจากโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ดังนี้
สิบกว่าปีก่อน สมัยยังเป็นอาจารย์ที่รามาธิบดี ได้ยินชื่อบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ครั้งแรก จากที่ประชุมภาควิชาว่าทางมหาวิทยาลัย แจ้งเวียนให้ทราบว่าบริษัทนี้ตั้งขึ้นด้วยเงินทุนจาก ทุนลัดดาวัลย์ ตอนแรกก็ฟังผ่าน ๆ บริษัทอะไรนะชื่อไทยมาก ๆ หัวหน้าภาคบอกเป็นทุนที่ได้มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตั้งขึ้นเพื่อผลิตยาที่มีราคาแพง ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้ และประเทศเราสามารถพึ่งตนเองได้ ตอนนั้นเราก็ฟังๆแล้วก็ผ่านไป เพราะคงเป็นเรื่องไกลตัว
ผ่านมาไม่นาน มีโอกาสได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการพิจารณายาของคณะ ก็มียาตัวหนึ่งเป็นยากระตุ้นเม็ดเลือดแดงของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ทำเรื่องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องมหากาพย์มาก มีแพทย์และเภสัชกรหลายคนต่อต้านไม่ให้นำเข้า เพราะเป็นยาของบริษัทใหม่ และมียา original กับยาgeneric ของบริษัทต่างประเทศอยู่แล้วถึงสองตัว เรียกว่าเข้าพิจารณาแล้วโดนเตะเข้าเตะออกอยู่หลายรอบ
จำได้ว่าในรอบที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นกรรมการ ก็ยกมือเห็นด้วยให้นำยาตัวนี้เข้าโรงพยาบาล ให้เหตุผลว่าถ้าเราซึ่งเป็นคณะแพทย์หลักไม่สนับสนุน แล้วใครจะให้โอกาสให้บริษัทแจ้งเกิด ส่วนเมื่อเข้ามาแล้ว แพทย์จะสั่งใช้หรือไม่ก็จะใช้ดุลยพินิจของตนเอง หลังจากยาเข้าโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ก็ไม่ได้ติดตามอีกว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นหมอผ่าตัดไม่มีโอกาสได้ใช้
จนลืมเรื่องนี้ไปแล้ว มาได้ยินชื่อบริษัทนี้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ที่โรงพยาบาลนมะรักษ์ มีผู้แทนมาเสนอยาที่อิหนูเบน คราวนี้เป็นยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ซึ่งคนไข้มะเร็งเมื่อให้ยาเคมีบำบัดต้องได้รับยากระตุ้นนี้ อิหนูเบนเดินมาถามว่าจะให้เอามานำเสนอมั้ย บริษัทอะไรก็ไม่รู้ของไทย เบนไม่รู้จัก
ตอนแรกก็เกือบจะปล่อยผ่าน พอถามชื่อบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เลยบอกอิหนูเบนไป ว่า เราตั้งโรงพยาบาลนี้ก็เพราะเราตามรอยท่าน บริษัทนี้เป็นของท่าน เบนบอกน้องเค้าทำเรื่องเข้าโรงพยาบาลเลย หมอพาร์ทไทม์ไม่ใช้ พี่จะบอกหมอมู่ ฟูลไทม์เอง ว่าถ้าคนไข้ที่เงินน้อยก็สั่งตัวนี้เป็นทางเลือก หมอมู่เมื่อทราบราคาก็สั่งโดยไม่ต้องบอกเลย ยานี้จากเข็มละเป็นหมื่น ถ้าฉีดตัวนี้เหลือแค่พันเศษๆ นี่ไงวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่าน เท่าที่ใช้มา ผลก็ไม่มีปัญหา ประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยกว่ายา original เลย
วันนี้ ได้ยินชื่ออีกครั้ง กับการผลิตวัคซีนโควิด บอกได้เลยว่า กราบแทบพระบาทสำนึกในสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์ ใครที่มีอคติตามืดบอดเพราะโง่หรือบ้า ก็ปล่อยให้อยู่กับความคิดต่ำตมของเขาไป วันนี้ขอเขียนยาวหน่อย จากมุมมองและสิ่งที่ตัวเองเห็นเองกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
นี่คือเรื่องราวบางส่วนของ “หมอนุช” ผู้ที่ทำให้โรงพยาบาลนมะรักษ์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชั่วข้ามคืน จากการเปิดหน้าชนเรื่องวัคซีน