ธุรกิจ
25 ต.ค. 2564 เวลา 15:51 น.
ผนึกกำลัง 3 องค์กร “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” สร้างโรงพยาบาลสนามมาตรฐานระดับภูมิภาค
ผนึกกำลัง 3 องค์กร “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” สร้างโรงพยาบาลสนามมาตรฐานระดับภูมิภาค
ผนึกกำลัง 3 องค์กร “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” สร้างโรงพยาบาลสนามมาตรฐานระดับภูมิภาค รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลือง สีส้ม พร้อม ซีพีประกาศเจตนารมณ์บำเพ็ญประโยชน์เพื่อรำลึกถึงพ่อหลวงของแผ่นดิน และสืบสานปณิธานจิตอาสาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะที่ดับบลิวเอชเอน้ำใจงามยกพื้นที่คลังสินค้าเป็นโรงพยาบาลสนาม ด้านกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์จัดเต็มแพทย์ พยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมเปิดบริการภายในเดือนตุลาคมนี้ หวังบรรเทาความเดือดร้อนผู้ป่วยโควิด-19
5 ตุลาคม 2564 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ซึ่งมีเจตนารมณ์และมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้ผนึกกำลังสร้างโรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” รองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มระดับสีเหลือง-สีส้ม ที่คลังสินค้า โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ โดยพัฒนาปรับปรุงคลังสินค้าขนาดพื้นที่ 15,294 ตารางเมตรเป็นโรงพยาบาลสนามมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบเพื่อทำการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งนี้จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารักษ์จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารับการรักษา ณ โรงพยาบาล “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์”
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานมาเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และมีผู้ป่วยในระดับวิกฤติอยู่ในโรงพยาบาลหลักจำนวนมาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะบริษัทเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจบนผืนแผ่นดินไทยมาหนึ่งศตวรรษใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร มีความสำนึกและกตัญญูพ่อหลวงของแผ่นดิน และเนื่องในวาระครบ 5 ปีวันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเพื่อสืบสานพระราชปณิธานจิตอาสาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยสำนึกในกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงขอบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการสร้างโรงพยาบาลสนามช่วยรักษาพี่น้องประชาชนชาวไทยลูกพ่อหลวงของแผ่นดินที่ติดเชื้อโควิด-19ให้หายป่วยและมีสุขภาพแข็งแรงกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์เดียวกันคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สร้างโรงพยาบาลสนาม”ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ขึ้นที่คลังสินค้า โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ เครือซีพีของเราได้ระดมสรรพกำลังสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 30 วัน มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีส้มทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก เพราะมีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบเพื่อทำการรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
นอกเหนือจากโรงพยาบาลสนาม ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ เครือซีพียังดำเนินการอีก 3 โครงการเพื่อน้อมรำลึกถึงพ่อหลวงของแผ่นดิน คือ โรงพยาบาลสนามเลิดสิน-กรมการแพทย์-ซีพี-พฤกษา บนถนนสีลม ตรงข้ามโรงพยาบาลเลิดสิน จุดนี้รองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง และอีกแห่งคือศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตน์ราชธานี รองรับผู้ป่วยสีเขียวและเหลืองอ่อน นอกจากนี้ยังได้มีโครงการปันปลูกฟ้าทะลายโจร บนที่ดิน 100 ไร่ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตยาฟ้าทะลายโจรจำนวน 30 ล้านแคปซูลแจกฟรีในช่วงวิกฤตโควิด-19
ด้าน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนในการช่วยเหลือสังคม โดยดับบลิวเอชเอได้มอบพื้นที่คลังสินค้า ขนาดเนื้อที่ 15,294 ตารางเมตร ภายในโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามโดยไม่คิดค่าเช่าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชน เนื่องจากโรงพยาบาลสนามเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับต่อสู้วิกฤติโควิด-19 เพราะเมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสถานที่ที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาให้หายเร็วที่สุดก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น ทั้งนี้ได้ปรับพื้นที่อาคารคลังสินค้าของบริษัทดับบลิวเอชเอสร้างเป็นโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก อีกทั้งบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลสนามนี้มีการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย เพราะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชน รวมทั้งยังอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่รับผิดชอบดูแลด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลสนาม โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ถือเป็นแห่งที่สองในพื้นที่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากที่ได้เปิดโรงพยาบาลสนามสมุทรปราการรวมใจ 5 (WHA) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะยกระดับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ
สำหรับ นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง มีผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีส้มและสีแดงจำนวนมากที่ไม่มีเตียงรองรับ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใน จ.สมุทรปราการและมีโรงพยาบาลสาขาในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของการเป็นด่านหน้าที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 จึงเต็มใจและพร้อมเต็มที่ในการร่วมมือกับเครือซีพี และดับบลิวเอชเอ สร้างโรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหลัก ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและส้มเป็นกลุ่มที่้ต้องการได้รับการดูแลใกล้ชิด โดยขอการันตีว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีมาตรฐานระบบการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข และมีระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ปลอดภัย ซึ่งกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ได้เตรียมพร้อมด้านศักยภาพการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อประจำการที่โรงพยาบาลสนาม จัดเตรียมทีมอายุรแพทย์ไม่ต่ำกว่า 15 คน พยาบาลและทีมสหวิชาชีพประมาณ 40-50 คน พร้อมทีมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์มาร่วมดูแลผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในโรงพยาบาลสนามมีห้องยาและเวชภัณฑ์ ห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ตลอดจนมีนักโภชนาการในการดูแลอาหารผู้ป่วยเฉพาะโรค มีระบบไตเทียมโมบายไว้รองรับกรณีผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการเสื้อผ้าผู้ป่วยเสมือนในโรงพยาบาลหลักเพื่อความสะดวกของผู้ป่วย ดังนั้นโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับสาธารณสุขภาครัฐได้เป็นอย่างมาก
โรงพยาบาล “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” พร้อมเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-สีส้มภายในต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง จะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามฯแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับโรงพยาบาลสนาม ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์ ได้วางระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.การติดตั้งท่อระบบระบายอากาศบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยเพื่อดูดไอระเหยจากผู้ป่วยแต่ละเตียง สามารถระบายอากาศได้สะดวกในครั้งเดียว ทั้งยังมี การฆ่าเชื้อด้วยยูวีอีกครั้ง เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดภายในพื้นที่ 2.วางระบบอากาศภายในโซนดูแลผู้ป่วยในระบบ Negative pressure เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ขณะที่โซนของเจ้าหน้าที่ แพทย์พยาบาลเป็น Positive pressure เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อเข้ามาในห้อง 3.ติดตั้งระบบท่อกรองน้ำระบบ RO ในการกรองน้ำสะอาดสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะการใช้ในผู้ป่วยที่ฟอกไตที่ต้องใช้น้ำสะอาดในการรักษา 4.ติดตั้งระบบก๊าซทางการแพทย์ ระบบออกซิเจนในทุกเตียง เป็นระบบจ่ายก๊าซเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและช่วยในการทำงานของเครื่องมือแพทย์ 5.ติดตั้งเครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง (High Flow O2 FLO) และเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ 6.มีระบบไตเทียม Mobile รองรับเคสที่มีภาวะแทรกซ้อน 7.มีห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ห้องยาและเวชภัณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก 8.จุด Nurse Station ให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้มอนิเตอร์ดูแลผู้ป่วย พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์พิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและทีมแพทย์ 9.ติดตั้งกล่องระบบสื่อสารบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยในโซนสีส้มทุกเตียงเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที 10.ติดตั้งระบบสื่อสาร 5G ที่ครบสมบูรณ์ทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต CCTV อินเทอร์คอม และระบบเสียงตามสายทั่วพื้นที่ในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งนำหุ่นยนต์นำทางผู้ป่วยเข้ามาใช้
นอกจากนี้ยังมีระบบบริการอื่น ๆ อาทิ มีนักโภชนาการในการดูแลด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค กลุ่มเสี่ยง และผู้มีโรคประจำตัว ตลอดจนมีระบบบริหารจัดการเสื้อผ้าผู้ป่วยเสมือนในโรงพยาบาลหลัก และมีบริการรถกอล์ฟภายในโรงพยาบาล