ชป.พิจิตร สั่งยกประตูฝายไฮดรอลิกพับได้ที่ ปตร.สามง่าม ในแม่น้ำยม เริ่มกักเก็บน้ำแล้วส่งสัญญาณถึงชาวนาฤดูแล้งที่จะถึงนี้ส่อเค้าวิกฤตน้ำในแม่น้ำยมคาดว่าจะมีให้ใช้ได้อีกแค่ 2-3เดือน หลังจากนั้นก็จะแห้งขอดแจ้งเตือนควรลดพื้นที่การทำนาปรัง อีกทั้งลุ่มน้ำน่านก็สั่งห้ามสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าห้ามสูบน้ำทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการน้ำในการรักษาระบบนิเวศและน้ำกิน น้ำใช้เท่านั้น
วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ประตูระบายน้ำสามง่ามหรือฝายไฮดรอลิกพับได้ในแม่น้ำยม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ได้ลงพื้นที่พร้อมสั่งการให้ดำเนินการยกบานประตูของฝายไฮดรอลิกพับได้ขึ้น 3.50 เมตร เพื่อชะลอการไหลของน้ำในแม่น้ำยม อีกทั้งเพื่อเป็นการกักเก็บน้ำเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งที่ส่อเค้าว่าจะวิกฤตโดยได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดพิจิตร ซึ่งขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยได้กล่าวว่า โครงการชลประทานพิจิตรดูแลอาคารชลประทานขนาดกลาง 17 แห่ง อยู่ริมแม่น้ำน่าน 14 แห่ง ริมแม่น้ำยมและในแม่น้ำยมมี 3 แห่ง ตลอดจนมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมด 62 แห่ง แบ่งออกเป็นแม่น้ำน่าน 37 สถานี แม่น้ำยม 25 สถานีรวมพื้นที่รับประโยชน์ 401,243 ไร่ โดยในปีนี้น้ำเหนือเขื่อนมีน้อยกว่าปีที่แล้วรวมถึงลำน้ำยมไม่มีเขื่อนหรือประตูน้ำขนาดใหญ่ในการกักเก็บน้ำ จึงทำให้เป็นปัญหาต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ซึ่งน้ำในแม่น้ำยมก็จะต้องไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดนครสวรรค์ ดังนั้นช่วงนี้ชาวนาลุ่มน้ำยมควรหาวิธีกักเก็บน้ำจากแม่น้ำยมและน้ำในคูคลองเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
โดยโครงการชลประทานพิจิตรจึงขอประชาสัมพันธ์ถึงชาวนาพิจิตรว่า “ปีนี้น้ำน้อยงดปลูกข้าวหน้าปรัง” ตลอดจนประตูน้ำที่อยู่ริมแม่น้ำน่านก็ให้ปิดประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งพร้อมประสานงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ว่าหากมีน้ำต้นทุนเพียงพอกับการเพาะปลูกก็ให้ประเมินการปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย
ส่วนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในแม่น้ำน่านก็เห็นสมควรงดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรังด้วยเช่นกัน รวมถึงอาคารบังคับน้ำหรือ ปตร.ที่เชื่อมคลองต่างๆกับแม่น้ำน่านทั้งหมด 14 แห่ง ขณะนี้ก็สั่งการให้ปิดประตูระบายน้ำ ห้ามระบายน้ำจากคลองต่างๆทิ้งลงแม่น้ำน่านอย่างเด็ดขาดทั้งนี้เพื่อกักเก็บน้ำเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ โดยคาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้อาจจะวิกฤตเนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีน้อยนั่นเอง