เป็นความสนุกสนานที่เกิดขึ้นภายในแปลงปลูกข้าวของปางช้างแม่สา ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดย พี่อ๋อย นางอัญชลี กัลมาพิจิตร เจ้าของปางช้าง นำทีมพาควาญ สมาชิกในครอบครัวควาญ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้งกะเหรี่ยง ดาราอั้งและชาวม้ง รวมไปถึงช้างน้อยใหญ่มากกว่า 10 เชือก ร่วมประกอบพิธีบูชาพระแม่โพสพ พระแม่ธรณี ก่อนจะร่วมกันขนฟ่อนข้าวเหนียว มานวดเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในขั้นตอนนี้มีช้างวัยเด็กเข้ามาช่วยสร้างสีสัน ตั้งแต่ขนฟ่อนข้าวและเดินเหยียบไปที่ฟ่อนข้าว เพื่อนวดให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง
สำหรับกิจกรรมช้างนวดข้าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมช้างไถนา ช่วยควาญปลูกข้าวบนเนื้อที่ 10 ไร่ เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นก็สร้างความสนุกสนาน เรียกรอยยิ้มได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังสร้างความสนุกให้กับช้างที่เข้ามาร่วมลุยโคลน
เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่เด็กๆ ได้ช่วยพ่อและแม่นวดข้าว ส่วนช้างได้เดินเล่นเหยียบฟ่อนข้าวและกินเศษฟางข้าวที่ได้จากการนวด ส่วนผลผลิตที่ได้ก็นำไปบริโภคในครอบครัวของควาญช้าง คนงานและแบ่งให้ช้างกินเป็นอาหารเสริมอีกด้วย
นอกจากควาญช้างและครอบครัวจะมีข้าวเหนียวเก็บไว้กิน ประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช้างอีก 70 เชือก ยังได้ผ่อนคลาย มีฟางข้าวที่ปลอดสารพิษ ใช้กินเป็นอาหารหลัก สุขภาพของช้างดีขึ้น
ทั้งนี้พี่อ๋อย ยอมรับว่าตั้งแต่เปิดจังหวัดให้อำเภอแม่ริม เป็นชาร์มมิ่งเชียงใหม่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้ปางเริ่มมีรายได้เข้ามาในปางช้างบ้าง แต่เป็นรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศเท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงถึงเดือนละ 2,500,000 บาท ทางปางช้างยังแบกรับภาระหนักอึ้ง จึงวอนขอให้ทางรัฐบาลเร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการปางช้าง และสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
สำหรับใครที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมชมชีวิตความเป็นอยู่ของช้างที่หวนกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติ ไม่ใช่การชมช้างที่ถูกฝืนบังคับเหมือนเช่นอดีต สามารถแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนอุดหนุนตะกร้าอาหารช้าง ถ่ายรูปกับช้างได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ไปจนถึง 17.00 น. ของทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ซึ่งทุกคนสามารถเป็นส่วนเติมเต็มเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจปางช้างอยู่รอดได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19