ความคาราคาซังของ ข้อพิพาทเหมืองทองคำชาตรี ที่ บริษัทคิงส์เกต บริษัทแม่ของ อัครา ไมเนอร์ ไปร้อง อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกร้องค่าเสียหายจากที่ ไทยสั่งยกเลิกสัมปทานการทำเหมืองทองคำ เกิดความเสียหายโดยเรียกค่าชดเชยประมาณ 25,000 ล้านบาท เดิมจะมีการชี้ขาดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาแต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างการไกล่เกลี่ยของคู่กรณีก็เลยเลื่อนการวินิจฉัยออกไปอีก อย่างน้อยก็ 6 เดือน
สืบเนื่องมาจาก ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เข้ามาบริหารเมื่อปี 2557 มีการร้องเรียนว่า การทำเหมืองทองคำที่ จ.พิจิตร ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รัฐบาลขณะนั้น เลย ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเลิกสัมปทาน จะด้วยเหตุผลอื่นอย่างไรประการใด ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ผลกระทบคือ เราถูกฟ้องร้องเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบให้ รมว.อุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแม่งานในการเจรจากับ คิงส์เกต ใช้งบฯในการดำเนินการไปแล้วหลายร้อยล้านบาท เรื่องการเจรจามีข้อเสนอเข้า ครม. โดยวิธีประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นประโยชน์กับคิงส์เกตทั้งสิ้น
จนกระทั่งมีรายงานจาก ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ว่า คิงส์เกต ได้รับสัมปทานโครงการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยจำนวน 4 แปลง ทำให้คนไทยตาสว่างว่ามีการให้คิงส์เกตเข้ามาทำสัมปทานเหมืองทองคำในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว หนีไม่พ้นข้อวิจารณ์เรื่องของค่าโง่อยู่ดี
วันก่อน มีอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ วัชระ เพชรทอง ไปยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการกำกับดูแลให้ กสทช. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเคร่งครัด ไม่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะส่งผลการเอาเปรียบผู้บริโภคในการใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน
มีการหยิบยกเรื่องที่ กลุ่มบริษัทในเครือซีพี จะควบรวมกิจการกับ กลุ่มบริษัทในเครือเทเลนอร์ ซึ่งปรากฏว่ามีนักวิชาการ นักคุ้มครอง ผู้บริโภค แสดงความกังวลถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์ 3 รายใหญ่ 132 ล้านเลขหมาย ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 93 ดังนั้น การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการที่ให้บริการดังกล่าว จะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 57 เกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคได้
ยังไม่รวม การถือครองคลื่นความถี่ ที่จะมากถึง จำนวน 1,260 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น กรณีนี้ส่อที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่ กสทช.จะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแสวงประโยชน์จากผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเกี่ยวกับการจำกัดลิดรอนสิทธิของผู้บริโภค ในลักษณะกึ่งการผูกขาดด้วย
เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความห่วงใยจากหลายฝ่าย และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่จะส่งผลกระทบกับชาวบ้านและธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย และการตัดสินใจของ กสทช. ภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งในข้อกฎหมาย ที่ท้ายที่สุดแล้ว จะกลายเป็นเรื่องของการเสียค่าโง่ซ้ำซากขึ้นมาอีกหรือไม่ ต้องบริหารจัดการบนความโปร่งใส และต้องตรวจสอบได้ด้วย.