กรมควบคุมโรค เผย คนไทยป่วย ‘ไข้เลือดออก-มาลาเรีย’ สูงขึ้น 3-4 เท่าจากปีที่ผ่าน ๆ มา พบจังหวัด ตาก-แม่ฮ่องสอน-กาญฯ ติดเชื้อเยอะสุด
16 ม.ค. 2566 – นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไข้เลือดออก และ มาลาเรีย ข้อมูลปี 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย มากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออก 31 ราย
ส่วนไข้มาลาเรียปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2566
จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน และ กาญจนบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลายพบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย แม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง 2 เท่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาพบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้างพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า จากกระแสข่าวนักวิจัยญี่ปุ่นนำเสนอรายงานวิจัยว่า ยุงที่เวียดนาม กัมพูชา ดื้อต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ เป็นการศึกษาเพื่อเป็นการเตือนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย ติดตามเฝ้าระวังยุงในพื้นที่ว่า มีการดื้อต่อสารเคมีหรือไม่ พร้อมเสนอให้สลับสับเปลี่ยนสารเคมีกำจัดแมลงในการควบคุมยุงนั้น
กองโรคติดต่อฯ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์กำจัดยุงลายบ้าน ด้วยวิธีการพ่นหมอกควันและพ่น ULV จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิจิตร นครปฐม ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี พังงา สงขลา และ กทม. พบว่า ยังมีประสิทธิภาพควบคุมยุงลายบ้านได้ดี ฆ่ายุงลายบ้านได้มากกว่า 90%