ดร.กิริฎา เภาพิจิตร แห่ง TDRI ย้ำตลาดมองเฟดทะลุ 5% จนกว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะเหลือ 2% เตือนลูกหนี้รับมือดอกเบี้ยในไทยยังไต่ขึ้นในปีหน้า ลุ้นเศรษฐกิจขยับด้วยปัจจัยบวกจากท่องเที่ยวเติบโตและรับการลงทุนต่างชาติเพิ่ม แต่เสี่ยงกับราคาพลังงานสูงเพราะสงครามยูเครนยังไม่จบ
จากที่การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อรอบล่าสุดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 พย.ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย., ก.ค. และก.ย. ด้วยเหตุผลหลักที่ต้องการสะกัดปัญหาเงินเฟ้อครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2%
จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ ฯ ที่สูงขึ้นนั้น มาจากทั้งต้นทุนการผลิตและความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น หลังสหรัฐฯ เปิดประเทศเมื่อ Covid-19 ได้คลี่คลายลง
จนนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อุปสงค์ชะลอลงได้ แต่ในระยะแรกหลังขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วอัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่ลดลงนัก ซึ่งยังคงอยู่ที่ราว 6.3% ทำให้ตลาดมองว่าในช่วงปลายปีเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5-0.75% และเป็นไปได้ที่จะทะลุเกิน 5% ในปีหน้า หรือจนกว่าจะทำให้เงินเฟ้อลดมาอยู่ที่ 2%
หากมองในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่นั้นมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาพลังงาน ไม่ได้มาจากอุปสงค์ในประเทศ ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบรวดเร็วและรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้
แต่แบงก์ชาติคงยังต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1% เพื่อไม่ให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยกว้างเกินไป จนกระแสเงินทุนไหลออกมาก แล้วจะส่งผลลบ เช่น การอ่อนค่าของเงินบาท ดร. กิริฎาจึงคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในปีนี้ และอีก 0.5-0.75% ในปีหน้า
อย่างไรก็ตามกระแสเงินไหลเข้าออกของไทยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงนั้น เป็นผลกระทบจากตลาดทุนเพียง 20% แต่อีก 80% มาจากการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งมีตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เพราะราคาสินค้านำเข้าจากตลาดโลกมีราคาสูงในขณะนี้
อีกทั้งแม้จะมีช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทย แต่เงินก็ไม่ได้ไหลออกจากตลาดทุนของไทย เพราะนักลงทุนให้ความสำคัญกับตัวเลขผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ส่วนใหญ่ดีขึ้น และเป็นเรื่องการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนในตลาด SEA และประเทศต่าง ๆ ในเอเชียด้วย
“จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้แบงก์ชาติมองว่าไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรงเหมือนสหรัฐ เพราะปัญหาต่างกัน”
รวมถึงสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยเองยังไม่ฟื้น ซึ่งอาจยังต้องรอถึงปีหน้าที่จะมีการเติบโตเหมือนกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้ ดังนั้นหากกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงไปก็ยิ่งซ้ำเติมให้คนเดือดร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ/ประชาชนทั่วไปที่ยังมีภาระเงินกู้อยู่ ดร.กิริฎาจึงฝากถึงลูกหนี้คนไทยให้เตรียมรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในปีหน้า และหากจำเป็นต้องขอสินเชื่อเพิ่มก็ต้องเตรียมใจที่จะจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูง
ขณะเดียวกันมองว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยยังไม่น่าจะปรับลดลงนัก แม้ทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลกจะต่ำลงก็ตาม เนื่องจากต้นทุนที่แท้จริงยังสูงจากราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่สามารถลดลงได้เร็วมากนักจากปัจจุบัน เพราะจริง ๆ เป็นราคาที่ภาครัฐตรึงไว้ เพื่อไม่ให้สูงเท่าราคาตลาดโลกตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับที่สินค้าหลายอย่างไม่ได้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนแท้จริงหลัง Covid-19 ระบาดด้วย
“ผู้บริโภคไทยต้องทำความเข้าใจว่าราคาสินค้าของไทยจะไม่ได้ลดลงได้ง่าย ๆ เหมือนที่ตลาดโลกเริ่มลดลงแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้น เศรษฐกิจของไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขึ้น รวมถึงการที่ผู้ประกอบการจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน หรือ ญี่ปุ่น ที่เริ่มย้ายฐานการลงทุนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยมากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนพลังงานจากปัญหาสงครามยูเครนที่ยังไม่ยุติด้วย