วันนี้ (9 พ.ย. 64) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยืนยันว่า พร้อมรับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ไปจนถึง 30 พฤศจิกายน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่อยู่ในประเทศไทย มาขึ้นทะเบียนเข้าในระบบให้ถูกต้อง โดยยอมรับว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเปิดรับแรงงานเข้ามาในสถานประกอบการ ซึ่งในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้สอดคล้องกันไปกับนโยบายของรัฐบาล
ดังนั้น การลักลอบเข้าเมืองเพื่อมาขึ้นทะเบียน ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตำรวจจะยังคงเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมือง เพราะเจตนาของนโยบายนี้ เปิดโอกาสให้แรงงานที่อยู่ในประเทศไทย ที่ใบอนุญาตอาจจะหมดอายุสามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้น
รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ยังระบุว่า แรงงานผิดกฎหมายทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ขณะที่ร้อยละ 80 ของการลักลอบเข้าเมืองในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานใน กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
โดยข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงวันนี้ ตำรวจจับแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองกว่า 1,000 คน
รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังยืนยันว่า หากพบตำรวจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือขบวนการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติ จะต้องดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา
ส่วนคดีลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ จำนวน 23 คน แต่รถประสบอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต 3 คน/บาดเจ็บ 7 คน และอีก 16 คน มีรถมารับไป ก่อนจะไปปล่อยทิ้งใน จังหวัดกำแพงเพชร และพบมีผู้ติดโควิด-19 จำนวน 3 คน ยืนยัน คดีมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากที่ตำรวจออกหมายจับคนขับรถยนต์และผู้ครอบครองรถ โดยเชื่อว่า จะสามารถจับผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังแถลงผลการระดมกวาดล้างขบวนการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่รับผิดชอบเขตจังหวัดเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ /เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร /ตาก และพิจิตร สามารถควบคุมตัว แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย สัญชาติเมียนมา กว่า 100 คน โดยพบผู้ต้องหาคนไทยร่วมเป็นขบวนการช่วยเหลือนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้
ทั้งนี้ยังมีรายงานข้อมูลสถิติผลการจับกุมหลบหนีเข้าเมือง ดังนี้
1. วันที่ 8 พ.ย.64 จับกุม 147 ราย
2. ข้อมูลภาพรวมรายเดือน
1-8 พ.ย.64 : 1,408 ราย
เดือน ต.ค.64 : 3,229 ราย
เดือน ก.ย.64 : 3,276 ราย
เดือน ส.ค.64 : 2,476 ราย
เดือน ก.ค.64 : 2,221 ราย
3. สถิติตั้งแต่ 1 ม.ค.64 ถึงปัจจุบัน 18,952 ราย
จากข้อมูลของตำรวจพบว่า กลุ่มแรงงานฯผิดกฎหมายเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะลักลอบเดินเท้า โดยมีคนนำพาอาศัยช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนประเทศไทย เข้ามาพักพิงยังจุดพักคอย และต้องจ่ายค่าหัวคนละประมาณ 300 ถึง 500 บาท จากนั้นจะมีคนไทยขับรถยนต์พาแรงงานผิดกฎหมาย เข้ามาส่งต่อยังนายหน้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป