“PM 2.5” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เมืองไทยต้องเผชิญ ซึ่งจะมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะจังหวัดในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล
โดย ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า การตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบค่าระหว่าง 13-132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานทั้งหมด 53 จังหวัด โดยค่าฝุ่นสูงสุดอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม วัดค่าฝุ่นได้ 132 มคก./ลบ.ม. ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตรวจวัดค่าระหว่าง 54 -97 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน รวม 90 พื้นที่
ภาคเหนือ ตรวจวัดค่าระหว่าง 38-100 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานทั้งหมด 17 จังหวัด ได้แก่ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่, ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง, ต.สบปาด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย เชียงราย, ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก, ต.ท่าอิฐ อ.เมืองอุตรดิตถ์, ต.ในเมือง อ.เมืองกำแพงเพชร, ต.ในเมือง อ.เมืองพิจิตร, ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย, ต.ในเมือง อ.เมืองเพชรบูรณ์, ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง อุทัยธานี, ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่, ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตรวจพบค่าระหว่าง 53-115 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานทั้งหมด 16 จังหวัด ได้แก่ บริเวณ ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์, ต.มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร, ต.ในเมือง อ.เมือง ขอนแก่น, ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา, ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย, ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย, ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี, ต.ในเมือง อ.เมือง นครพนม, ต.ธาตุนาเวง อ.เมืองสกลนคร, ต.หมากแข้ง อ.เมือง อุดรธานี, ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ, ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด, ต.เมืองเหนือ อ.เมืองศรีสะเกษ, ต.เหนือ อ.เมืองกาฬสินธุ์, ต.ลำภู อ.เมืองหนองบัวลำภู และ ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ
ภาคกลาง ตรวจพบค่าระหว่าง 37-132 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 9 จังหวัด ได้แก่ ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, ต.ปากเพรียว อ.เมือง สระบุรี, ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี, ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม, ต.ทะเลชุบศร อ.เมืองลพบุรี, ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี, และ ต.ย่านซื่อ อ.เมืองอ่างทอง
ภาคตะวันออก ตรวจพบค่าระหว่าง 38-64 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 5 จังหวัด ได้แก่ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง, ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง, ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง, ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง, ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา, ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง และ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
ทั้งนี้ ล่าสุด กทม. ได้ประกาศขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด ราชการ และบริษัทเอกชนให้ลูกจ้าง-พนักงาน ทำงานที่บ้าน (WFH) 2 วัน ในวันที่ 2-3 ก.พ. นี้ หลังคาดการณ์แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 จะมีค่าสูงต่อเนื่องในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. 2566 วันนี้ “ไทยรัฐออนไลน์” จะพาไปดูถึงผลเสียและอันตราย รวมทั้งวิธีป้องกันตัวเองจากภัยร้ายใกล้ตัว “PM 2.5” !!!
“PM 2.5” คืออะไร?
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากๆ (ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือไมโครเมตร) (PM ย่อมาจาก Particulate Matters) ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ เราจึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากๆ ในอากาศ จะดูคล้ายกับมีหมอกหรือควัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 นี้ ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก และด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกไปยังหลอดลม และลงลึกจนถึงถุงลมปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในที่สุด
มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?
ในวันที่อากาศไม่ดีมีค่าฝุ่นมลพิษสูง หลายคนคงรู้สึกแสบตา แสบจมูก รวมถึงอาการเจ็บคอ ซึ่งระบบที่มีผลกระทบมากที่สุด คือ ระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไม่สบาย ไอและมีเสมหะ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคปอด (เช่น หอบหืด, ถุงลมโป่งพอง) ต้องระวังสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากฝุ่นนี้จะทำให้อาการของโรคกำเริบได้ง่าย ซึ่งในระยะยาวจะมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
เป็นอันตรายต่อผิวหนังอย่างไร?
นอกจากนี้ยังทำลายผิวหนังของเราได้ด้วย เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกาย จึงหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญฝุ่นมลพิษได้ยาก เนื่องจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งเล็กกว่าขนาดของรูขุมขน จึงสามารถซึมผ่านเข้าผิวหนัง จึงทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ มีอาการแดงคัน ระคายเคืองผิว โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาผิวแพ้ง่าย โรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีผื่นกำเริบได้ง่าย ผิวหน้ามันขึ้น น้ำมันบนหน้าและฝุ่นจะทำให้เกิดการอุดตันของผิว และก่อให้เกิดสิว และกระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย และจุดด่างดำ
วิธีป้องกันตัวจากฝุ่น PM 2.5
- สวมหน้ากากอนามัย ที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องฝุ่น PM 2.5
- หลีกเลี่ยงการออกสถานที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยง
- งดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง
- หมั่นดื่มน้ำสะอาด เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย
- เลี่ยงการสัมผัสกับกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น การเผาไหม้ขยะ สีทาวัสดุ มลพิษจากการคมนาคม และโรงงานอุตสาหกรรม
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หายใจไม่สะดวก
- แสบตา ระคายเคืองตาอย่างมาก
- มีน้ำมูก นานกว่า 1 สัปดาห์
- ไอ จามเรื้อรัง นานกว่า 2 สัปดาห์
กราฟิก : sathit chuephanngam