เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“ยอตัดใบ” ขายดีตลาดต้องการมากปลูกเท่าไรก็ไม่พอ!! พืชเสริมรายได้ระหว่างรอผลผลิตอินทผลัมของสองสาวคู่แม่ลูกคนขยันเมืองชาละวัน จ.พิจิตร
พิษจากโควิด-19 ในระลอกแรก ซึ่งทำเอาทุกธุรกิจ ทุกกิจการ ต้องหยุดชะงักงันลงไป การตัดสินใจกลับมาบ้านเพื่อสานต่องานเกษตร สวนอินทผลัมที่ลงทุนปลูกเตรียมเอาไว้ พี่ตุ๊กตา-แก้วตา อินหัน (ผู้เป็นแม่) ในวัย 50 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 1 ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร บอกว่าก็พอดีกันกับได้เวลา ที่ผลผลิตในชุดแรกหลังจากปลูกก็เริ่มทยอยออกมาให้เห็นอย่างชื่นใจ ทันเวลาที่ตัวเองตัดสินใจยุติอาชีพช่างเสริมสวยซึ่งทำเลี้ยงชีพมานานหลายสิบปี เพื่อหนีกลับมาตั้งหลักใหม่อยู่ที่บ้านเกิดแทนที่ได้พอดิบพอดีกัน
บนพื้นที่ผลิต 4 ไร่ ซึ่งก่อนหน้าตนเองตั้งใจไว้ว่าจะทำสวนเกษตรเผื่อเอาไว้เป็นอาชีพหลังเกษียณ และด้วยความที่สนใจเรื่องพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ อะไรที่เป็นกระแสอยู่ในความสนใจ อย่างเช่นไม้ผลเศรษฐกิจมาแรงในช่วงเวลานั้น ก็คืออินทผลัมกินผลสด(พันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำเข้า) ตนเองจึงไม่พลาดที่จะหาซื้อพันธุ์มาปลูกลองดู ซึ่งถึงแม้ว่าในตอนแรกที่ทำจะต้องเทียวไปเทียวกลับ “กรุงเทพฯ-พิจิตร” ก็สู้ทนรอคอยมาจนกระทั่งพอ ต้นอายุเริ่มเข้าปีที่3 แล้วมีผลผลิตออกมาให้เห็น กอปรกับอาชีพที่ทำอยู่ทางกรุงเทพฯ ร้านเสริมสวยก็ทำท่าว่าจะไปต่อไม่ไหวแล้ว เพราะพิษจากโควิดฯระลอกแรกเล่นงานเข้าอย่างจัง เลยทำให้ไม่ลังเลในการตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเพื่อตั้งหลักใหม่ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ต้องมองหาอะไรทำเสริมคู่กันด้วย
เนื่องจากครั้งนี้เกษตรกลายเป็นอาชีพหลักสำหรับการดำเนินชีวิตไปเสียแล้ว
พี่ตุ๊กตาเล่าให้ฟังอีกว่า ด้วยอินทผลัมนั้นเป็นผลไม้ที่มีฤดูกาลของการจะให้ผลผลิตในแต่ละปี ดังนั้นก็แปลว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่ซึ่งไม่มีผลผลิตจะให้ออกขายได้ มันต้องมีอะไรที่เป็นรายได้เพื่อเข้ามาชดเชยกันในช่วงนี้แทนด้วย ที่ว่างๆ ระหว่างแถวปลูกอินทผลัมรวมทั้งตามแนวชายขอบของสวน ซึ่งยังพอจะทำอะไรได้อยู่อย่างเช่นการปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ กะเพรา กับชะอม อันดับแรกจึงได้ลองปลูกนำไปก่อน ส่วนยอหรือ“ใบยอ”นั้นจากเดิมทีความตั้งใจไว้คือ พอหลังจากได้ไปดูไปเห็นมาว่ามีตลาดรับซื้ออย่างไม่จำกัดเลย โดยเฉพาะสำหรับลูกยอได้คุยกับคนซื้อด้วย จึงมีแนวคิดร่วมกันกับเพื่อนว่าจะปลูกยอเพื่อทำส่งตลาดตามที่ได้ไปคุยกับคนรับซื้อมาแล้ว แต่ว่าพอมาลงมือปลูกจริงกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แปลงของเพื่อนที่ลงปลูกไปพร้อมกันปรากฏว่าไม่รอด! อาจจะด้วยเพราะยังไม่รู้เทคนิคการดูแล คงเหลือรอดมาก็แต่แปลงของตนเองเท่านั้น รุ่นแรกที่ปลูกไปกว่า300 ต้นเริ่มตัดใบขายได้มีออเดอร์จากแม่ค้าทุกวัน
สำหรับต้นยอหรือใบยอหรือยอตัดใบที่พี่ตุ๊กตาปลูกอยู่ เจ้าตัวบอกว่าจะมีพันธุ์ที่นิยมบริโภค “ใบ” นำมาทำห่อหมกที่คนกินจะชอบมาก คือพันธุ์ใบหยิก เพราะพันธุ์นี้จะมีรสชาติไม่ขม จะมันๆ กินอร่อยกว่า แล้วก็มีอีกพันธุ์ซึ่งปลูกคู่กันด้วยก็คือ พันธุ์ใบมันใบเงา อันนี้ใบจะใหญ่แลดูสวยกว่า แต่รสชาติจะติดขมนิดๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ใช้ทำห่อหมกหรือการบริโภคได้เหมือนกันทั้ง2 พันธุ์ การปลูกและการดูแลหากเริ่มจาก “กล้าเพาะเมล็ด” ซึ่งมีระบบรากสมบูรณ์ใช้ปลูกจะมีความอึด ทน อัตราการรอดตายสูง แต่ว่าก็อาจใช้เวลานานหน่อยในระหว่างที่รอการงอกจากเมล็ด (ราว 3 เดือนขึ้น) ซึ่งพอโตหรือต้นสูงได้สักฝ่ามือเริ่มย้ายลงปลูกได้ ที่สวนใช้ระยะปลูกราว1 ก้าว เหตุผลที่ปลูกถี่คือเพราะเดี๋ยวก็จะต้องตัดยอดหรือใบขายอยู่เรื่อยๆ จึงเหมือนเป็นการตัดแต่งกิ่งอยู่ในตัว การดูแลช่วงแรกๆ หลังปลูกใหม่ต้องคอยให้น้ำไปจนกว่าต้นที่ปลูกจะติดดี หรือรอดตายแล้ว จากนั้นอาศัยน้ำที่ให้ต้นอินทผลัมเป็นหลักหรือให้น้ำสัปดาห์ละครั้งก็พอ มีการให้ปุ๋ย สูตร 15-5-25 ประมาณ 1 กำมือ/ต้น เฉลี่ยเดือนละครั้ง ปัญหาโรคแมลงมีพบบ้าง เช่น โรคใบหงิก และหนอนผีเสื้อ สามารถใช้น้ำส้มสายชู/หรือน้ำส้มควันไม้ 1 ฝา ผสมน้ำ 16 ลิตร(เป้ฉีดพ่นยาแบบสะพายหลัง) ฉีดพ่นช่วยจัดการได้
จากยอรุ่นแรกที่ปลูกก่อน 300 ต้น ต่อมาในรุ่นสองปลูกเพิ่มอีก200 ต้น ผลผลิตตอนนี้ที่เน้นคือ การตัดใบหรือยอด ส่งให้กับแม่ค้าตลาดนัดในพื้นที่จะมีออเดอร์เข้ามาทุกวัน พ่วงไปกับ กะเพรา ชะอม และพืชผักสวนครัวอื่นๆ โดยราคาใบยอที่ส่งอยู่จะตกลงกันที่10 บาท/กก. เป็นราคาเดียวตลอดทั้งปี ซึ่งเวลาแม่ค้าไปขายต่อในตลาดราคาขายปลีกก็อาจจะปรับขึ้นอีกสัdประมาณเท่าตัว แต่สำหรับสวนเองถือว่าราคานี้พอใจแล้วใบยอที่ตัดส่งต่อวันจะตามออเดอร์เท่านั้น และค่อนข้างได้น้ำหนักดีแตกต่างกับพืชผักอื่นๆ เวลาส่งให้ก็อาจเผื่อไปสัก 2 ขีดด้วย เพราะว่าเผื่อแทนน้ำที่เวลาล้างใบก่อนส่งให้แม่ค้า ในการตัดใบยอจะตัดเป็นแถวไล่ไป จนครบทั่วแปลงแล้วพอเวียนกลับมาก็ตัดได้ใหม่อีก ซึ่งตอนนี้ผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของแม่ค้า และข้อดีอีกอย่างของยอก็คือ ให้ผลผลิตได้พร้อมๆ กันไปทั้งใบและลูกเลย ต้นยิ่งแก่มีอายุมากขึ้นหรือต้นใหญ่ขึ้น
ก็ยิ่งให้ลูกติดดกมากขึ้นตาม และถ้าขยันรดน้ำหรือในแปลงผลิตมีการติดตั้งระบบให้น้ำพร้อมกว่านี้ จะทำให้มีการแตกยอดใหม่ได้ดีตัดใบขายได้ไวกว่าขึ้นไปอีก
ทำไปทำมาในสวนไม่ได้มีแต่อินทผลัมอย่างเดียวแล้ว กลายเป็นว่ามีผักสวนครัว และใบยอ ที่ต้องคอยตัดใบขายทำส่งแม่ค้าตามออเดอร์สั่งซื้อที่เข้ามาอยู่ตลอด และก็ยังมีพืชอื่นๆ อีกอาทิ พุทราน้ำอ้อยจากไต้หวัน ผลไม้เมืองหนาว อย่างเช่น แอปเปิ้ล
เป็นต้น ซึ่งตนเองมีความสนใจอยากจะปลูกสะสมเอาไว้ที่สวนด้วย เริ่มทยอยซื้อพันธุ์พืชแปลกเอาเข้ามาปลูกเพิ่มอยู่เรื่อยๆ
จนตอนนี้มีหลากหลายชนิดมาก และพอมีอะไรให้ทำมากขึ้น แต่ว่าตนเองก็เป็นเพียงผู้หญิงตัวคนเดียวไม่มีคนคอยช่วยเหลืองานที่ทำอยู่ ประจวบเหมาะกับที่ลูกสาว “น้องเบลล์” นางสาวศุจีวรรณ ใจเที่ยงแท้ อายุ25 ปี ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้น้องทำงานอยู่ในการบินไทย ทำอยู่ส่วนงานโอเปอเรเตอร์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกสองพอดี ก็เลยตัดสินใจให้ลูกกลับมาอยู่บ้านช่วยกันกับแม่ทำสวนดีกว่า
ปรากฏว่าน้องเบลล์เองก็ได้เลือดหญิงแกร่งจากแม่มาไม่น้อยเลย งานหนักก็เอางานเบาก็ไม่เคยเกี่ยง ซึ่งพอลงตัวในเรื่องของเวลาที่มีตรงกันแล้ว พี่ตุ๊กตาเล่าว่าด้วยความที่ในสวนเองก็มีปลูก “มะพร้าวน้ำหอม” เอาไว้อยู่หลายต้นพอใช้การได้ จึงคิดหาวิธีต่อยอดด้วยการเปิดร้าน “กาแฟมะพร้าวน้ำหอม” สูตรเฉพาะของที่ร้านจากการช่วยกันคิดค้นและพัฒนาสูตรนี้ขึ้นมาเอง เพื่อเปิดขายในช่วงเวลากลางวัน กลายเป็นว่าได้เป็นอีกหนึ่งอาชีพซึ่งมีฟีดแบ็คที่ดีจากลูกค้า ให้การตอบรับกาแฟสูตรพิเศษของทางร้านอย่างน่าพอใจ ไม่แพ้ผลผลิตหลักอย่าง อินทผลัม ซึ่งพอถึงฤดูให้ผลผลิตก็ได้รับการตอบรับอย่างด้วยดีเช่นกัน กลางวันขายกาแฟมะพร้าวน้ำหอมแล้วพอบ่ายๆ ก็ช่วยกันกับแม่เข้าสวน ตัดใบยอส่งลูกค้าตามออเดอร์ที่สั่งไว้ แล้วพอถึงช่วงฤดูกาลของอินทผลัมก็ช่วยกันขายอีก ซึ่งจะมีการเปิดสวนเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาชมผลผลิตของจริงพร้อมเปิดจำหน่ายในราคาหน้าสวนควบคู่กันไปด้วย
พี่ตุ๊กตายังบอกด้วยว่า ชีวิตพลิกผันมาก แต่ว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือเมื่อก่อนการทำร้านหรือว่างานประจำอาจจะมีรายได้สูงจริง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแล้วเราสามารถที่จะปรับตัว เพื่อการตั้งรับได้ทันมันคือ ทางรอด และโชคดีว่าการตัดสินใจมาทำเกษตรกลายเป็นความชอบอย่างหนึ่งที่ตนเองมีอยู่ในตัวมาก่อนแล้ว เพราะว่ายิ่งทำไปก็ยิ่งรู้สึกสนุกและไม่หยุดที่จะค้นหาไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า รู้สึกชีวิตมีความสุขกว่า หากเทียบกันก่อนหน้านี้ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ที่มีแต่การดิ้นรนรีบเร่งเพื่อการทำกินอยู่ตลอดเวลา ต่างกับเวลานี้ที่กลับมาอยู่บ้าน มีเวลาสำหรับชีวิตที่จะทำหรือเลือกไม่ทำอะไรก็ได้ อิสระในการใช้ชีวิตที่มีมันต่างกันมาก แล้วยิ่งตอนนี้มีลูกสาวที่ได้กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า มีงานมีอาชีพสร้างรายได้ที่เราสามารถเป็นผู้กำหนดทุกอย่างเอง ซึ่งมันดีกว่ามากๆ หากมองในแง่ของความสุขที่ได้รับในวันนี้
จากวิกฤติโควิด-19 ในวันนั้นที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยน อาชีพใหม่ในวันนี้ พี่ตุ๊กตาบอกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือจะมาจากทั้ง รายวัน คือได้จากขายพืชผักสวนครัวกับใบยอ และส่วนอินทผลัมจะมีผลผลิตออกมาในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี ก็ถือว่าเป็นรายได้รายปีโดยมี “ต้นทุนผลิต” เป็นพวกค่าปุ๋ย-ยาและค่าน้ำ ซึ่งมีรายได้รายวันจากยอและพืชผักสวนครัวเป็นตัวช่วยในการจ่ายแทนให้ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องควักทุนในกระเป๋ามาจ่ายอีกแล้ว และยังมีเหลือพอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในส่วนของการปลูกยอพี่ตุ๊กตายังมีแผนจะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอีก เบื้องต้นได้เตรียมกล้า(เพาะเมล็ด) ไว้ลงปลูก 500 ต้น และว่าต่อไปหากผลผลิตมีมากพออาจจะทำส่งตลาดได้ทั้ง “ลูกยอ” ซึ่งมีราคารับซื้ออยู่ที่ 8 บาท/กก. หากตนเองทำได้ก็มีตลาดรับซื้ออย่างจำกัดปริมาณเช่นกัน
สอบถามเพิ่มเติม โทร.080-162-9894
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager