รบ.จะร้าวไหม..เมื่อ ‘สันติ’ ซัดประกันรายได้ชาวนาทำคลังกระเป๋าฉีก-เกษตรกรอ่อนแอ
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ผลักดันโครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล จะออกมาตอบโต้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอย่างไร ที่ออกมาพูดเชิงตำหนิว่าการจ่ายเงินประกันรายได้นั้น จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ การเกษตรการไม่พัฒนา
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น กระทรวงการคลังจ่ายงวดที่ 1 ไปแล้ว ส่วนงวดอื่นๆ ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณดูแล ทั้งในแง่ของแหล่งเงินงบประมาณ และข้อจำกัดของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 28 หากหลุดจาก 2 เรื่องนี้เมื่อไร กระทรวงการคลังจะต้องเร่งไปหาเงิน
นายสันติกล่าวว่า การขยายกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 ต้องหารือระดับนโยบาย ต้องมีการศึกษา วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้ทุกหน่วยงานไปดูโครงการที่ใช้งบประมาณว่าโครงการไหนจบแล้วบ้าง หรือเร่งปิดโครงการ และมีเงินเหลือเท่าไร ให้ส่งคืนมาที่คลัง กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งดำเนินการเร็วที่สุด
“การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น สิ่งที่สำคัญคือควรคำนึงถึงการลดต้นทุนให้เกษตรกร เพราะการจ่ายเงินประกันราคาให้เกษตรกรนั้น จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ระบบการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อช่วยเหลือแบบนี้เมื่อไรจะจบลงเสียที เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งทั้งด้านต้นทุนการผลิต เทคโนโลยี และการเกษตรรูปแบบนาแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน ไม่สิ้นเปลืองแรงงาน ตลอดจนพัฒนาพันธุ์ข้าว และวิจัยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า การดำเนินโครงการประกันรายได้เพื่อช่วยเหลือชาวนาในช่วงราคาข้าวตกต่ำ ถือเป็นผลงานของรัฐบาล ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่การหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ก็ถือเป็นหน้าที่ของกระทวงการคลัง ดังนั้นไม่ว่าใครจะได้หน้าหรือไม่ได้หน้า กระทรวงการคลังก็ต้องหาเงินมาเพื่อช่วยเกษตรกร” นายสันติกล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ ถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยังขาดอีก 76,000 ล้านบาท จากกรอบทั้งหมดที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา 89,000 ล้านบาท วันนี้ทยอยจ่ายงวดแรกแล้ววงเงิน 13,000 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือจะใช้จากงบประมาณกลางหรือไม่ ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้ง รวมทั้งต้องหารือกรอบวินัยการคลังตาม มาตรา 28 กำหนดกรอบหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าชดเชยโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วครั้งหนึ่งวงเงิน 18,000 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับมาตรการคู่ขนานประมาณ 5,000 ล้านบาท และเงินส่วนต่างประมาณ 13,000 ล้านบาท สำหรับเงินส่วนต่างเริ่มจ่ายงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนแล้ว และจะจ่ายต่อเนื่องงวดที่ 2 เข้าใจว่าจะจ่ายวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ส่วนที่เหลืออีก 31 งวด ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการต้องดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อเนื่อง จะใช้วงเงินเท่าไรในแต่ละงวดขึ้นอยู่กับรายได้ที่ประกัน มอบหมายให้กระทรวงการคลังดูว่าต้องจัดเงินแต่ละงวดเท่าไร กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ทำต้นเรื่องในภาพรวม แต่ละงวดจะต้องใช้เงินเท่าไร หลักคือประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะเดินหน้าปี 3 ต่อไป
นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 วงเงินรวม 13,225 ล้านบาท เริ่มโอนเงินส่วนต่างการประกันรายได้วันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นวันแรก มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 530,842 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,230.69 ล้านบาท
ที่ ธ.ก.ส.สาขาพิมาย จ.นครราชสีมา ชาวนาเข้าคิวรับเงินชดเชยส่วนต่างราคา ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กันอย่างคึกคัก
น.ส.สุทธินันท์ พิริยะกฤต ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ธ.ก.ส.พิจิตรโอนเงินส่วนต่างประกันรายได้ให้ชาวนา ทั้ง 12 อำเภอ รวม 15 สาขา 34,832 ราย กว่า 897 ล้านบาท มีชาวนามาตรวจสอบยอดเงินค่าประกันรายได้ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคาร กันอย่างคึกคัก
นายประเทือง เพชรจันทร์ ชาวนา จ.พิจิตร กล่าวว่า เกี่ยวข้าวเปลือกขายได้ตันละ 5 พันบาทเศษ มาได้ส่วนต่างรัฐบาลช่วยรู้สึกดีใจ นำสมุดบัญชีมาตรวจพบว่ามีเงินเข้า จะถอนเงินบางส่วนไปจ่ายค่ารถเกี่ยว ใช้ค่าปุ๋ย ค่ายา และซื้อสิ่งของเครื่องใช้ประจำวัน