ขณะที่ชลประทานจังหวัดพิจิตร เร่งบริหารจัดการน้ำแก้ผลกระทบภัยแล้งด้วยการยกประตูฝายกั้นแม่น้ำยมทั้ง 4 บานประตู
วันที่ 28 มกราคม ผู้สื่อข่ารายงาน สถานการณ์ภัยแล้ง จ.พิจิตร ส่อเค้ารุนแรงตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านพื้นที่อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ระยะทางยาว 126 กิโลเมตร เริ่มแห้งขอดตลอดสาย มองเห็นเนินดิน พื้นทรายเป็นเกาะแกร่งเท่านั้น และมีเพียงร่องน้ำเล็กๆที่ลึกในช่วงกลางแม่น้ำเท่านั้น ส่งสัญญาณบ่งบอกถึงภัยแล้งเริ่มตั้งแต่ต้นปี
ทั้งนี้จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชน ริมสองฝั่งแม่น้ำยม ในการทำการเกษตร และขาดน้ำใช้อุปโภคบริโภค ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียง 2 เดือนปริมาณปริมาณน้ำในแม่น้ำยมยังล้นท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม และ ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง
ทางด้าน นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ได้กล่าวว่า แม่น้ำยม ไม่มีน้ำเป็นต้นทุนของตนเอง ปัจจุบันมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชลประทานจังหวัดพิจิตร ได้มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ให้มีน้ำใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้ง
โดยได้ทำการยกประตูฝายสามง่าม เป็นฝายขวางกั้นแม่น้ำยม มีระบบประตูไฮดรอลิก ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 บ้านจระเข้ผอม ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม โดยได้ทำการยกประตูสูงเฉลี่ย 5 เมตร( 4.30-5.00 ม.) ทั้ง 4 บานประตู ทั้งนี้ลำน้ำยมสามารถกักเก็บน้ำเหนือฝายสามง่าม จากจังหวัดพิจิตร ไปประจบพื้นที่บางระกำโมเดล จังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ลำน้ำยมช่วงเหนือฝายสามง่าม มีมวลน้ำกักเก็บได้จำนวนกว่า 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ( 13.80 ลบ.ม.) ประโยชน์ที่เกษตรกรและประชาชนจะได้รับ คือพื้นที่ตำบลสามง่าม ตำบลรังนก และตำบลกำแพงดิน กว่า 3 หมื่นไร่ ส่วนพื้นที่อยู่ใต้ฝายสามง่าม ในพื้นที่อำเภอสามง่ามบางส่วน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพธิ์ทะเล จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งบ้าง
นายเอกฉัตร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ชลประทานได้ปล่อยน้ำจากฝายสามง่าม ไปทางช่องบานประตูเล็กหรือบานประตูฉุกเฉิน จำนวน 2 ช่อง ช่องละ 10 เซนติเมตรเพื่อ เลี้ยงระบบนิเวศแม่น้ำยม ทั้งนี้ กรมชลประทานอยู่ระหว่างการก่อสร้างประตูน้ำขนาดกลาง บริเวณบ้านท่านางงาม ประตูน้ำบ้านท่าแห และประตูน้ำวังจิก ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568 หากทั้ง 3 แห่งแล้วเสร็จก็จะสามารถกักเก็บน้ำเป็นแบบขั้นบันไดตลอดลุ่มน้ำยมได้ และจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในช่วงฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากได้