‘เกษตรพิจิตร‘ คว้ารางวัลชนะเลิศ ศูนย์การเรียนรู้ ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ทำความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดทำแปลงสาธิตการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมงและการรักษาสิ่งแวดล้อมตามวิถีธรรมชาติ โดยได้ดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน40 แห่ง วิทยาลัยประมง 2 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 36 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ 4 แห่ง วิทยาลัยเทคนิค 20 แห่ง วิทยาลัยอาชีวศึกษา 2 สารพัดช่าง 5 แห่ง และวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน110 แห่ง และขยายผลการดำเนินงานสู่หน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนรอบวิทยาลัย โดยมีกิจกรรมการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สอศ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทั้งในระดับภาค และระดับประเทศประจำปี 2564 เพื่อดำเนินการตรวจประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งในระดับภาคและระดับประเทศจะเข้ารับรางวัลจาก กฟผ. เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดประเภทของกิจกรรมโครงการชีววิถีฯ ที่ใช้ในการประเมินเป็น 8 ประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทมีสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ ประจำปี 2564 ดังนี้ ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบศูนย์การเรียนรู้ รางวัลชนะเลิศ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร 2. รูปแบบแปลงสาธิต รางวัลชนะเลิศ วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน ประเภทที่ 2 ครูบุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ นายสมศักดิ์ เพ็ชรปานกัน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ประเภทที่ 3 นักศึกษาปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ น.ส.วรดา สอนซ้ายวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ นางอรุณรัตน์ จำปาเทพ โดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ประเภทที่ 5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ ชุมชนบ้านท่าร่วมใจ หมู่ 7 ต.สันกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและใช้ได้ผลดีเด่น รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง ประเภทที่ 7 สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในโครงการชีววิถีฯ รางวัลชนะเลิศ ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดย วิทยาลัยการอาชีพไชยา และประเภทที่ 8 งานวิจัยในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น รางวัลชนะเลิศ การเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมขี้แดดบ่อเลี้ยงกุ้งหมักจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) โดย วิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สอศ. และ กฟผ. ดำเนินชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเท่านั้น แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจที่ลงลึกถึง ครู นักเรียนบุคลากรทางการศึกษา กับ ผู้ประสานงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ของ กฟผ. โดยระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกันในการจัดการอาชีวศึกษา ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะร่วมมือกันดำเนินโครงการชีววิถีฯให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุด ของทั้ง 2 หน่วยงาน ต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่