สวมผ้าไทย รันวงการเผาศพ ในระยะเวลา 20 ปีของเธอผู้นี้ที่กำลังนำร่างไร้วิญญาณไปฌาปนกิจในเมรุวัด พบเห็นจนชินตา “แบงค์-ปฏิธาร” สัปเหร่อผู้มีใจรักในอาชีพรันวงการให้ภาพลักษณ์ “สัปเหร่อ” แบบเดิมๆ เปลี่ยนไป ภายใต้เสียงสะท้อนที่ทำเพราะความรัก
เปิดหลังเมรุ… ทำเพราะความรัก
“ไม่อาย เรามีอาชีพเป็นสัปเหร่อค่ะ ความฝันถ้ามีบ้าน ปลูกบ้านเป็นของตัวเอง จะเขียนหน้าบ้านว่าเป็นสัปเหร่อ”
นี่คือความภูมิใจของ “แบงค์-ปฏิธาร บำรุงสุข” สัปเหร่อ LGBTQ ชาวพิจิตร วัย 31 ปีผู้รันวงการเผาศพ จนได้รับฉายา “เจ้าหญิงแห่งวงการเผาศพ”
โดยมีเอกลักษณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ คือ การแต่งหน้าทำผม แต่งกายอย่างสุภาพ สวมผ้าไทยงดงาม จนกลายเป็นภาพจำ ได้รับความสนใจจากสื่อ และสังคม อีกทั้งเป็นหนึ่งคนที่ช่วยให้ภาพลักษณ์การมอง “สัปเหร่อ” แบบเดิมๆ ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าการแต่งกายแบบที่เธอชอบแต่งไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนในกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพนี้ แต่เธอเชื่อว่านี่เป็นการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง และให้เกียรติเจ้าภาพงานไปในเวลาเดียวกัน
“อาชีพสัปเหร่อ เปรียบเสมือนหัวใจ เราชอบมากตั้งแต่เด็ก คลั่งไคล้ ถ้าสมัยก่อนแม่บอกไม่ให้ไปเผาศพ เราจะไม่ไปโรงเรียน เราจะร้องไห้ เพราะเราชอบไปดู เหมือนหัวใจของเราเลย
เรารู้สึกชอบ คือแม่เขาชอบพาไปงานศพ ไปช่วยงานครัว ไปเห็นโลงศพก็เลยชอบ ชอบดอกไม้ ชอบโลงศพ เมื่อตอนเด็กก็ตามไปดูเขา พอชอบก็ได้ไปทำอาชีพ ก็เลยภูมิใจ ไปอยู่วัดตั้งแต่อายุ 13
เพราะความรักจริงๆ คลั่งไคล้ เป็นตั้งแต่ ป.3 คือ ไม่เรียน ไม่เอาแล้ว ไม่อยากเรียน แม่บอกให้ไปเรียนให้จบ ป.3 แต่ใจมันไม่อยากเรียนแล้ว แม่ให้จบ ป.3 เราก็เรียนให้จบ แล้วไปอยู่งานศพ จนซัดเซพเนจรช่วยสัปเหร่อ ดวงไปผูกกับเขา เรามีความสุข ได้ไปอยู่วัดที่เรารัก ที่เราชอบ
เราเป็นสังคมบ้านนอก ก็ได้อยู่กับงานวัด งานศพ พออยู่ไปเห็นเขามีศพไปตั้งแถวบ้าน คือศพชอบไปจัดที่บ้าน ด้วยความเป็นเด็กก็ไปดูไปเล่น แล้วได้ไปช่วยก็ได้เงิน ความเป็นเด็กก็ดีใจ เราเลยไปทุกงาน”
แต่ใครจะรู้ล่ะว่า ตั้งแต่อายุ 13 ขวบแบงค์ชื่นชอบและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไปงานศพ ด้วยพิธีที่ดูขลัง การตกแต่งโลงศพ ทำให้มีความประทับใจ จนได้โอกาสไปฝึกงานกับสัปเหร่อที่วัดในหมู่บ้าน
ทว่า การเป็นสัปเหร่อไม่ได้ทำให้เด็กอายุ 13 ปีในตอนนั้นรู้สึกกลัวแต่อย่างใด ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการช่วยงานศพ และได้อาสาช่วยงานสัปเหร่อ
“มันไม่น่าจะติดใจ มันน่าจะเกี่ยวกับเราชอบ ตอนเด็กๆ ป.3 เราชอบวาดรูปโลงศพ น่าจะเกี่ยวกับจริตเราที่ชอบดอกไม้ เพราะงานศพจะมีการจัดดอกไม้ เราเป็นเด็กชอบจะไปดู
เรารู้สึกว่าชอบการจัดดอกไม้ ชอบการแต่งตั้งโลง แล้วพอไปสัมผัสชีวิตจริงไปดูจริงๆ ปั่นจักรยานไปตอนเด็กๆ กลับมาบ้านโดนแม่ตี แต่เราก็หนีไป แอบไป เพราะเราชอบ …เราไม่ได้เรียน ครูพักลักจำเขาเอา ตั้งแต่ไปเป็นลูกมือเขา ตอนนี้ 20 ปีแล้ว”
เด็กวัย 13 ปีกับการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในวันนั้น ทั้งจัดดอกไม้ จัดวางเก้าอี้ และกวาดพื้นบริเวณศาลา และเมรุ
จากวันนั้นเป็นต้นมา เธอได้เข้าไปช่วยงานสัปเหร่อทุกครั้งที่มีงานศพ จนได้เริ่มถ่ายทอดวิชาให้เธอทั้งหมด จนวันหนึ่งความชื่นชอบในพิธีการ กลายมาเป็นอาชีพที่เธอรัก สร้างความสุขให้แก่เธอ
เรียนรู้-เปลี่ยนผ่านตามยุค
แบงค์ใช้เวลาเรียนรู้การประกอบพิธีในงานศพในระยะ 2 ปี จนเมื่อเธออายุครบ 15 ปี ก็มารับหน้าที่เป็นสัปเหร่อเต็มตัวประจำวัด เพราะคนที่ถ่ายทอดวิชาให้เธออายุมากแล้วและอยากเกษียณ
“เราประจำอยู่จริงๆ ประมาณ 4 วัด ที่ทำทุกศพ แล้วแต่เจ้าภาพจะมาตาม มาเรียกเราก็ไป…”
สำหรับอาชีพ “สัปเหร่อ” แน่นอนว่าเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครทำ เพราะต้องใช้เวลาเรียนรู้ขั้นตอน การจัดการพิธี หรือการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย
หน้าที่ของเธอ จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีคนเสียชีวิต โดยหน้าที่ต้องรับผิดชอบหลักๆ ของผู้ที่ได้รับฉายาเจ้าหญิงแห่งวงการเผาศพ คือ การเก็บกวาด เช็ดถูเมรุ ดูความสะอาดเรียบร้อยของงานศพ โดยมีหลักคำยึดมั่นในงาน คือ ทำให้เจ้าภาพประทับใจ
“แตกต่างกันมาก เพราะว่าคนเดี๋ยวนี้หัวทันสมัย คือรวบตึง จบสวยที่เรา แต่ก่อนเราเผาศพอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เราเริ่มขายของที่เกี่ยวกับการใช้ในงานศพ รับจัดแบบพิธีการ ที่มีอุปกรณ์ เครื่องพิธีใช้ในงานศพ มันเหมือนเป็น event แต่ถ้างานไหนเขาไม่ซื้อเรา ก็แล้วแต่ เราก็ไปทำตามหน้าที่ของเรา ไม่บังคับเจ้าภาพ
ในเรื่องการเตรียมตัว ถ้ามีงานเขาจะโทร.มา แล้วเราไปช่วยเขา เขาเริ่มตายวันแรก เราอยู่ประจำกุญแจจะอยู่กับเรา เราจะไปเตรียม ไปที่รดน้ำ สวดศพ เราก็ทำทุกอย่าง จนศพมาแล้วเราก็นำศพลงหีบ แล้วตรงนี้ก็เป็นเรื่องของเจ้าภาพแล้ว ว่าเขาจะตั้งสวดกี่คืน
สมมติว่าจะเผาพรุ่งนี้ เราก็มาเตรียมเมรุให้เขา จัดสถานที่ให้เสร็จ จนเผาฌาปนกิจศพ เก็บกระดูกคือจบงานของเรา”
แน่น่อนว่าในเรื่องรายได้ เธอจะเรียกค่าตอบแทนที่งานละ 1,000 บาท แต่หลังจากเห็นผลงานที่เธอทำตั้งแต่จัดสถานที่ จัดโต๊ะ ทำความสะอาดสถานที่ และทำพิธีเผาจนส่งมอบอัฐิให้เจ้าภาพงาน เจ้าภาพจะให้เงินพิเศษแก่เธอเสมอ
“การประกอบอาชีพนี้ คำสอนที่เขาสอนไว้ คือ เวลาเผาศพอย่าดื่มเหล้า แต่เราก็ไม่ดื่ม ส่วนเรื่องเงินแต่ก่อนแล้วแต่เขาจะให้ เราพูดตรงๆ แล้วแต่จะให้มันก็ดี คนเรามีเกรดค่าตัว เราเรียกได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล งานเราจะเอาเท่าไหร่
แต่คนจนที่เขาไม่มีฐานะ เราก็ต้องดูตามเนื้อผ้า แต่เราก็มีเรต ทุกวันนี้ที่จะเผาศพ ก็ศพละ 1,000 บาทเอง เรื่องรายได้จะเปลี่ยนจากเมื่อก่อน แล้วแต่จะให้ คือเจ้าภาพดีเขาก็จะให้เยอะ ส่วนเจ้าภาพให้น้อยก็ไม่ว่า เราไม่อยากว่าใคร คือเราจะตั้งเรตค่าตัวไปเลย งานไหนไม่มี ก็แล้วแต่จะให้ ไม่ว่ากัน
คือเจ้าภาพเขาไม่เรื่องมากนะ บางทีเขาจ่ายให้มากกว่าที่เราเรียกอีก แต่มีครูอยู่คนหนึ่งเขาสอนเรามา เขาบอกว่าเราเรียกได้ค่าตัว แต่มันต้องสมเหตุสมผล ไม่มากไปไม่น้อยไปที่เราอยู่ได้
มันจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก คนใจไม่รักทำไม่ได้ มันต้องเอาใจใส่ เพราะมันไม่มีเงินเดือน เหมือนต้องรองานมา มุมที่ยากคือ แล้ววันต่อไปจะทำอะไรกินถ้าไม่มีงาน พูดง่ายๆ คนเราอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเงินกันทั้งนั้นแหละ“
ในส่วนมุมยากในอาชีพที่หลายคนไม่เคยเห็นก็มี แบงค์ตอบอย่างเป็นกันเองไว้ว่าต้องมีความพร้อมเสมอ และไม่สามารถปฏิเสธงานได้
“บางทีต้องทำให้ถูกใจเจ้าภาพ บางทีสัปเหร่อพูดดัง หรือดุบ้าง บางคนชอบเรามี ไม่ชอบเราก็มี งานไม่ใช่ใส่ไฟแล้วเราจะกลับได้เลย เราต้องอยู่จนเสร็จ
เช้าก็ต้องมีเก็บกระดูก สมมตินัดเจ้าภาพตี 5 ตี 3 ครึ่งเราต้องมาแล้ว มาก่อนเจ้าภาพเป็นชั่วโมง เพราะว่าเราต้องมีเคลียร์ความเรียบร้อย
อย่างพรุ่งนี้มีงานเผา 3 ศพในวันเดียว เราก็ต้องกะเวลาไปให้ถูก สัปเหร่อไม่มีเวลาให้ตัวเอง จะไปเที่ยวไหนนานไม่ได้ พอก้าวขาออกจากอำเภอ มีงานเข้ามาเลย นี่แหละคือมุมที่ยาก ไม่มีใครรู้หรอก เราปฏิเสธงานไม่ได้ เพราะเราต้องอยู่ทำงาน”
“เรื่องการไหว้พระ เราทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราชอบ การตักบาตร การไหว้พระ เพราะแม่ และยายที่เขาเลี้ยงมาพาทำ เรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงนี้ เราเป็นอาชีพอย่างนี้ เราก็น่าทำบุญ อุทิศให้คนที่เราเผาบ้าง
ถ้าพูดตรงๆ เขาก็ทำให้เรามีกินมีใช้ ดวงเราสมพงษ์กัน ทำให้เราได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เราก็ตักบาตรทุกวัน ชีวิตก็ราบรื่น 20 ปีไม่เคยเปลี่ยนอาชีพเลย
อย่างคนที่สอนเรามา เขาก็เป็นหัวทันสมัย เราก็ได้จากเขามา ประเพณีทุกอย่างทำตามใจเจ้าภาพเพื่อความสบายใจ เพราะเราไปเอาเงินเขา แต่อย่างข้อห้ามเราไม่ได้มีถืออะไร มีแต่ ก่อนจะเผาศพ เมรุต้องสะอาด เตาเผาต้องสะอาด ไม่ให้กระดูกเขามาเจือปนกัน
เผาต้องเผาให้หมด พิธีหน้างานต้องให้เรียบร้อย เป็นงานเป็นการ ไม่ใช่ทำมาโชว์เพาฯ พูดตรงๆ เราจะไม่เหมือนพวกอื่นๆ ที่มีคาถาอาคม เราไม่มี
เราเน้นความเรียบร้อย เน้นความเป็นพิธีกรรม พิธีการ เข้าได้กับเจ้าภาพ เจ้าภาพเข้าหาเรารู้สึกอบอุ่น คือ เหมือนเราไปเผาพ่อ เผาแม่เขา จะไม่ไปทำโวยวายเสียงดัง เพราะมันจะไม่เหมาะ เราจะทำให้เจ้าภาพเขามีความสุข ที่จะได้ส่งคนที่เขารักไปอีกภพอีกชาติหนึ่ง”
ลดคุณค่า “อาชีพ” หากินกับศพ
“เราเป็นกะเทยมานาน รุ่นฉันไม่มีเกย์ มีแต่กะเทย ตอนเด็กๆ เล่น ก็ตั้งว่าเป็นเจ้าหญิง ก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะดัง มาไกลขนาดนี้ ตอนนี้เรารู้สึกโอเคแล้ว แค่คนรู้จักเรา เพราะเมื่อก่อน ตอนอยู่โรงเรียน มีแต่คนเรียกว่าอีสัปเหร่อ มันไม่มาโรงเรียน สงสัยมีเผาศพ”
อาชีพที่คอยดูแล และจัดการเกี่ยวกับงานศพให้ออกมาสมบูรณ์ แต่สุดท้ายกลับเป็นอาชีพที่โดนสังคมลดคุณค่า มองว่าทำงานกับศพ หากินกับศพ
“เคยบอกไว้ว่า เจ้าประคุณ… ถ้าอาชีพนี้มาส่งเสริม มาถูกทาง ลูกขอให้มีหน้ามีตา มีฐานะ มีอยู่มีกินเพราะอาชีพนี้
จากการที่เราชอบดูสังคมชั้นสูง เพราะการแต่งตัว การแต่งตัวเราก็ไม่ได้เพิ่งมาเป็น เราเป็นมานานแล้ว แต่สมัยก่อนเราไม่มีทุนทรัพย์ที่จะมาแต่ง พอเราโตเรารู้จักสังคมชั้นสูงที่เขาแต่งตัว เราไม่ได้ลอกเลียนแบบเขา เพื่อที่จะลบหลู่เขา แต่เราชอบดูการแต่งตัว ดูจริตกิริยา มารยาท มันเรียบร้อย และเอามาปรับปรุงใช้ มันก็ดีกับเรา บุคลิกภาพคนเรามันเป็นเรื่องสำคัญ
สังคมมองว่าน่ากลัวและรังเกียจ เป็นสัปเหร่อใครจะชอบ เพราะหากินกับผี แต่สัปเหร่อกับหมอเขาอยู่ด้วยกัน เพราะป่วยก็หาหมอ ตายก็หาสัปเหร่อ
แต่สัปเหร่อต้องยกภูมิฐานตัวเองด้วย บุคลิกภาพ ความสะอาด ต้องมีหมด มองว่าทุกอาชีพก็ต้องชอบการแต่งตัวดีทั้งนั้น”
สิ่งที่รับรู้ตลอดการสัมภาษณ์ คือเธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ให้เกียรติอาชีพของตัวเอง และไม่ด้อยค่าอาชีพที่เธอรัก สิ่งไหนผิดพลาด พร้อมเรียนรู้เสมอ
“สัจธรรมชีวิต คือคนเราเกิดมาก็ต้องตาย แต่ละวันอยู่ให้มีความสุขที่สุด สุขตรงนั้น คือ เราหาด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปเดือดร้อนใคร
พอเราโตแล้วความคิดเราเปลี่ยนตามอายุ นี่คือเรื่องจริง เมื่อก่อนทำงานเพราะอยากอวดเขาว่าเราเก่ง เริ่มเปลี่ยนตัวเองเข้าสังคม ไปอยู่วัดในตลาด งานเราต้องสุขุมรอบคอบ ทำตัวบุคลิกภาพให้มันดี เช่น การแต่งตัว มันจะพาส่งเราไปทุกอย่าง
ถ้าพูดถึงได้อะไรจากงานนี้ คือเป็นความสุขชนิดหนึ่ง เพราะเราชอบ เราเป็นคนเรียนน้อย แต่เราอยู่ในสังคมที่คนรู้จักเรา
เรามีกินมีใช้ทุกอย่าง เรามีจากงานด้านนี้ เพราะเรามีความซื่อสัตย์กับอาชีพตัวเองด้วย แล้วเราก็รักษาคุณภาพของเราตลอด
เดี๋ยวนี้ใครก็อยากเป็น จะว่ามันหาเงินให้ง่ายมันก็ไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้ต้องวัดด้วยฝีมือ ทำไม่ดีเขาก็ไม่มาจ้างเราแล้ว
คือเราต้องทำให้ดี ทั้งคนเป็น และคนตาย เพราะคนไทยมีความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ เขาน่าจะรับรู้ว่าเราทำดีขนาดไหน มันเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทุกคนเกิดผ่านมือหมอ ยังไงวันหนึ่งก็ต้องผ่านมือสัปเหร่อแน่นอน คือเป็นอาชีพหนึ่ง และไม่ใช่อาชีพที่แปลกด้วย ทุกอาชีพจะต้องอยู่ และผ่านมือสัปเหร่อหมด ไม่ใช่อาชีพที่ต่ำ บางทีจะไปมองคนอื่นไม่ได้ เพราะสัปเหร่อก็ไปทำตัวให้เขาดูถูกเยอะ”
“ศพก็แตกต่างนะ โควิดเราเผาน้อยมาก วัดเราอยู่ในตลาด เราจะไม่ค่อยโดน แต่ถ้าถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะเป็นคนแพกมาเลย แล้วใส่เตา เราก็จุดไฟให้เขา
ถ้าเป็นศพอุบัติเหตุป่อเต็กตึ๊งจะเป็นคนดำเนินการ ใส่โลงแล้วเอามาตั้ง แต่ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บตาย เดี๋ยวเราก็ไปดูแล
ต้องมีหมอมา มันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ป่อเต็กตึ๊งนี่เก่งกว่าสัปเหร่อ เพราะต้องไปเก็บศพ เจอสดๆ หน้างานเลย”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **