หาคำตอบว่า ปลายทางของลิงแสมจากประเทศไทยจะไปจบลงที่ใด หลังเจ้าหน้าที่จับขบวนการลักลอบจับลิงแสมส่งประเทศเพื่อนบ้าน มีการตั้งข้อสังเกตว่า ลิงแสมอาจถูกนำไปเป็นสัตว์ทดลอง
คดีจับผู้ลักลอบขนส่งลิงแสม 102 ตัว บนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3070 ต.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ของตำรวจกองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2564 ทำให้เกิดคำถามว่า ปลายทางของลิงแสมเหล่านี้จะไปจบที่ไหน
ผู้ต้องหาในคดีนี้ให้การกับตำรวจว่า มีผู้ว่าจ้างให้ขนลิงจาก อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ไปส่งที่ชายแดน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว และ คาดว่าลิงทั้งหมดจะถูกนำไปทำอาหาร
อ.พจ.ทพ.วีรชัย สุทธิธารธวัช อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มองว่า ประเด็นการกินลิงแสมไม่น่าเป็นไปได้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากตำราแพทย์แผนจีน ที่ระบุว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ และ สมัยราชวงศ์หมิง แม้มีบันทึกเกี่ยวกับการนำลิงมาใช้เป็นยาแต่ไม่พบการนำสมองลิงมากินเป็นยา นอกจากนั้นยังไม่พบลิงแสมในบันทึกตำราแพทย์แผนจีน
หลักฐานที่ว่าการกินสมองลิงมันช่วยอะไรมันก็ไม่มี และก็หลักฐานที่ว่ามีการกินสมองลิงจริงๆเนี่ยมันก็ไม่ชัดเจนมันมีแต่เรื่องเล่ามีแต่เรื่องทางภาพยนตร์ที่ทำให้เราคิดว่าเป็นอย่างนั้น
อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในกลุ่มนักวิชาการและนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ก็คือ ลิงแสมอาจถูกนำไปเป็นสัตว์ทดลองวัคซีนยังต่างประเทศ
ศ.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ลิงแสมเป็น 1 ใน 2 ชนิดพันธุ์ที่นิยมใช้เป็นสัตว์ทดลอง โดยปกติศูนย์วิจัยต่างๆ จะใช้ลิงวอกเป็นสัตว์ทดลอง แต่ปัจจุบัน มีจำนวนน้อย หลายประเทศจึงเริ่มใช้ลิงแสมมากขึ้น
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติใช้ลิงแสมเป็นสัตว์ทดลองวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยทั่วโลกที่เริ่มใช้ลิงแสมเช่นกัน เนื่องจากลิง มีกายวิภาคและภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับมนุษย์ ที่สำคัญคือแสดงอาการติดเชื้อใกล้เคียงกับมนุษย์ และ สามารถแพร่เชื้อด้วยอาการไอเหมือนคนได้
ข้อมูลในรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ หรือ CDC ทำให้เห็นว่า มีการใช้ลิงเป็นสัตว์ทดลองมาตลอดในช่วงปี 2516 – 2560 โดยเฉพาะในปี 2560 จำนวนลิงที่ถูกใช้ในการทดลองอยู่ที่ประมาณ 76,000 ตัว
ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ บอกว่า ในช่วง 2 ปีนี้ที่มีการระบาดของโควิด -19 คาดว่ามีการใช้ลิงในการทดลองวัคซีนประมาณ 2 – 3 แสนตัว จนเกิดปัญหาขาดแคลนลิง
ช่วงปี 2563 กับ 2564 การวิจัยที่ใช้ลิงเยอะสุดๆ คือวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องออกมาพูดว่าตอนนี้ขาดแคลนลิงในการใช้ทำงานวิจัย อาจมีคำถามว่า ทำไมไม่ผสมพันธุ์แล้วเอาลิงมาใช้งาน ในจีนมีฟาร์มลิงหลายแห่ง คำตอบคือ กว่าจะได้ลิงที่มีอายุใช้งานได้คือ 4 – 5 ปี เขารอไม่ไหว ง่ายที่สุดคือ มาจับเอาจากประเทศแถวนี้
นายเอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า เป็นอีกคนที่สนับสนุนความเป็นไปได้ว่าลิงแสมจะถูกนำไปใช้เพื่อการวิจัยวัคซีนโควิด-19
เขาอ้างถึงรายงานของ The Species Survival Network หรือ SSN องค์กรตรวจตราค้นคว้า ศึกษาสัตว์ ที่ CITES กำหนดค้าขาย เพื่อตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการค้าผิดกฎหมายเกินกว่าที่โควต้าที่ CITES กำหนด เพื่อให้เห็นถึงความผิดปกติของลิงแสมในประเทศไทยที่ถูกจับได้ว่าส่งขายข้ามแดน
เนื้อหาช่วงหนึ่งในรายงาน ระบุว่า เมื่อการส่งออกลิงแสมจากประเทศจีนเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่เคยส่งออกลิงแสมที่มีชีวิตจำนวน 31,000 ตัว ในปี 2561 เหลือเพียง 703 ตัวในปี 2562
ประเทศกัมพูชา จึงขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ด้วยจำนวนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ในช่วงปี 2561 ถึง 2562 จาก 9,610 ตัว เป็น 17,422 ตัว ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่ศูนย์เพาะพันธุ์ในกัมพูชาจะสามารถเพิ่มการผลิตลิงแสมเป็นสองเท่าภายใน 1 ปี
เหตุผลเป็นเพราะ ลิงแสมที่ถูกเลี้ยงในกรงจะผสมพันธุ์ช้า ขณะที่ ลิงแสมตัวเมียในธรรมชาติ จะเข้าสู่วัยผสมพันธุ์เมื่ออายุ 4 ปีเป็นต้นไป และให้กำเนิดลูกครั้งละตัวเท่านั้น ระยะเวลาตั้งครรภ์อยู่ที่ 18 เดือน และต้องใช้ระยะเวลาอีก 10 เดือน กว่าลูกลิงแสมจะหย่านม ผลจากการขาดแคลนลิงแสม ส่งผลให้ราคาลิงแสมในประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาอยู่ที่ตัวละกว่า 3 แสนบาท
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกใช้เป็นเส้นทางผ่านของการส่งลิงแสมจากกัมพูชาไปสหรัฐอเมริกาโดยเครื่องบิน เพราะประเทศกัมพูชามีบริษัท ผลิต เพาะพันธุ์และเลี้ยงลิงแสมเพื่อใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิชาการตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ
ในปี 2563 มีลิงแสม 288 ตัวจากที่นั่นถูกส่งไปยังศูนย์วิจัย ทดลอง และดำเนินการเกี่ยวกับลิงทดลองในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในปี 2564 ยังไม่มีการขออนุญาตนำผ่าน