ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 20,289 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 9,313 ราย รักษาหาย 24,969 ราย เสียชีวิต 119 ราย
15 เม.ย. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 20,289 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 9,313 ราย รักษาหาย 24,969 ราย เสียชีวิต 119 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 224,905 ราย อยู่ใน รพ. 60,720 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI 164,185 ราย มีอาการหนัก 2,024 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 872 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 28.1%
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 119 ราย มาจาก 45 จังหวัด กทม.เสียชีวิตสูงสุด 12 ราย ตามด้วยนครศรีธรรมราช 6 ราย นครราชสีมา อุบลราชธานี ชลบุรี จังหวัดละ 5 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุโขทัย กาญจนบุรี จังหวัดละ 4 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจังหวัดละ 1-3 ราย โดยภาคกลางและตะวันออก เสียชีวิตสูงสุด 31 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 28 ราย ภาคเหนือ 20 ราย ภาคใต้ 17 ราย และ ปริมณฑล 11 ราย เป็นชาย 70 ราย หญิง 49 ราย อายุ 2 – 99 ปี เฉลี่ย 74 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 97%
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ 1. กทม. 3,110 ราย 2. ชลบุรี 736 ราย 3. นครศรีธรรมราช 726 ราย 4. สมุทรปราการ 658 ราย 5. นครปฐม 630 ราย 6. นนทบุรี 622 ราย 7. ร้อยเอ็ด 562 ราย 8. นครราชสีมา 511 ราย 9. บุรีรัมย์ 483 ราย และ 10. ขอนแก่น 466 ราย
สำหรับจังหวัดติดเชื้อเกิน 300 ราย มี 15 จังหวัด คือ กาญจนบุรี 397 ราย, สงขลา 388 ราย, เลย 378 ราย, ศรีสะเกษ 373 ราย, ฉะเชิงเทรา 348 ราย, สมุทรสาคร 342 ราย, สุรินทร์ 341 ราย, ราชบุรี 328 ราย, อุดรธานี 325 ราย, อุบลราชธานี 323 ราย, เชียงใหม่ 312 ราย, ระยอง 312 ราย, หนองคาย 309 ราย, พัทลุง 304 ราย และ สกลนคร 303 ราย
ขณะที่จังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 19 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม 92 ราย, นครนายก 87 ราย, พังงา 78 ราย, ตรัง 76 ราย, กระบี่ 75 ราย, ระนอง 71 ราย, ชุมพร 70 ราย, สตูล 65 ราย, พิจิตร 64 ราย, ตาก 47 ราย, ยะลา 33 ราย, ปัตตานี 30 ราย, แม่ฮ่องสอน 29 ราย, นราธิวาส 27 ราย, พะเยา 23 ราย, อุตรดิตถ์ 19 ราย, ชัยนาท 18 ราย, เชียงราย 7 ราย และ ลำพูน 1 ราย
สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำ พบ 42 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 68 ราย ใน 22 ประเทศ โดยมาจากซาอุดีอาระเบีย มากที่สุด 13 ราย กัมพูชา 9 ราย ออสเตรเลีย 6 ราย อังกฤษ มาเลเซีย ประเทศละ 5 ราย สิงคโปร์ 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 50 ราย แซนด์บ็อกซ์ 6 ราย กักตัว 6 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 6 ราย จากกัมพูชา 3 ราย เมียนมา 3 ราย สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-14 เม.ย. 2565 มีผู้เดินทาง 191,858 คน รายงานติดเชื้อ 895 คน คิดเป็น 0.47% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 180,399 คน ติดเชื้อ 759 คน คิดเป็น 0.42% แซนด์บ็อกซ์ 9,547 คน ติดเชื้อ 93 คน คิดเป็น 0.97% และกักตัว 1,912 คน ติดเชื้อ 43 คน คิดเป็น 2.25%
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 จำนวน 26,928 โดส สะสม 131,631,366 โดส เป็นเข็มแรก 55,998,381 ราย คิดเป็น 80.5% เข็มสอง 50,667,986 ราย คิดเป็น 72.8% และเข็ม 3 ขึ้นไป 24,964,999 ราย คิดเป็น 35.9%
แนะสงกรานต์ ตลาด-ร้านอาหาร การ์ดอย่าตก
สำนักข่าวไทย รายงานว่านายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สถานประกอบการประเภทตลาด และร้านอาหาร ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1–11 เมษายน 2565 พบว่า มาตรการที่ตลาดปฏิบัติได้มากที่สุด คือ กำหนดจุดเข้า-ออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า ร้อยละ 80 รองลงมาคือ มีการระบายอากาศที่ดี ร้อยละ 51 มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ร้อยละ 50 ตามลำดับ โดยความเสี่ยงที่พบ คือ คนแออัด ไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 54 พ่อค้า แม่ค้า ตะโกน คุยกัน โดยไม่สวมหน้ากากหรือสวมไม่ถูกต้อง ร้อยละ 27 พ่อค้า แม่ค้า มีสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ เลี้ยงสัตว์บนแผงขายของ ร้อยละ 14 มีขยะล้นถัง และมีแมลงวัน หนู แมลงสาบ ร้อนยละ 12 และแผงร้านค้าอยู่ติดกันไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 5 จึงขอเน้นย้ำสถานประกอบการตลาดทั่วประเทศคุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยจัดให้มีจุดเข้า-ออกเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1–2 เมตร จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง จัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด และต้องล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ผู้ปฏิบัติงานในตลาด ควรคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดให้บริการ และตรวจ ATK ทันที ส่วนผู้รับบริการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด
สำหรับร้านอาหาร จากผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1–11 เมษายน 2565 พบว่า มาตรการปฏิบัติ ได้มากที่สุด คือทำความสะอาดโต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อน-หลังใช้บริการ ร้อยละ 73 รองลงมาคือ มีเจลแอกอฮอล์ ประจำโต๊ะ ร้อยละ 61 เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และไม่นั่งตรงข้ามกัน หรือมีฉากกั้น ร้อยละ 51 ตามลำดับ ส่วนมาตรการที่พบเห็นว่าปฏิบัติได้น้อยที่สุด คือ จำกัดเวลาทานอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง ร้อยละ 18 รองลงมาคือ พนักงานแยกกันกินอาหาร ไม่รวมกลุ่มกัน ร้อยละ 20 เห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ที่ร้านอาหาร ร้อยละ 5 และยังพบเห็นผู้อื่นสวมหน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่สวม ร้อยละ 19.6 ดังนั้น ขอให้ร้านอาหารเฝ้าระวังความเสี่ยงตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยปฏิบัติดังนี้
1. ทำความสะอาดโต๊ะทันที หลังใช้บริการ
2. ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง
3. จัดอุปกรณ์กินอาหารเฉพาะบุคคล
4. กรณีจัดบริการอาหารรูปแบบผู้บริโภคบริการตนเองหรือบุพเฟ่ต์ ต้องจัดบริการถุงมือให้กับผู้บริโภค
5. จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกโต๊ะ หรือบริเวณที่เข้าถึงง่าย
6. เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลและโต๊ะกินอาหาร 1-2 เมตร หากมีพื้นที่จำกัดมีระยะไม่ถึง 1 เมตร ให้ทำฉากกั้น
7. จำกัดระยะเวลากินอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง
8. มีการจัดการระบบระบายอากาศที่ดี โดยห้องน้ำควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลาที่ให้บริการ